อยู่ต่อตั้งรับ หรือ ย้ายเมืองหนี?

น้ำท่วมกลายเป็น วิกฤตร่วมกันของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในรอบ 2-3 ที่ผ่านมา เราเห็นสถานการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง ขณะที่บ้านเรากำลังประสบกับอุทกภัย อีกฟากหนึ่งของโลกก็เผชิญกับสถานการณ์ใกล้เคียงกัน จนนำมาสู่การทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วร่วมทศวรรษกันอีกครั้ง นั่นก็คือ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

เพราะการเกิดน้ำท่วมในแต่ละครั้งนั้น มักจะมาพร้อมกับภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่พ่วงมาด้วยไม่ว่าจะเป็น การก่อตัวของพายุ และระดับน้ำทะเลหนุนสูง ดูจะรุนแรงและหนักขึ้นในแต่ทุก ๆ ปี

เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ณ ขณะนี้วิกฤตจากภัยธรรมชาติ ได้ผสานสอดส่ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างแนบสนิทเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยถี่ขึ้น จนกลายเป็นโจทย์ระดับช้างที่รัฐบาลหลายประเทศต้องหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตน้ำท่วมเมืองในระยะยาว เราไปติดตามการรับมือของประเทศต่างๆ บางส่วนกันว่าเขามีแนวทางบริหารจัดการอย่างไร?

5 เมืองที่ใกล้จมน้ำ
อินโดนีเซีย
จาก “จาการ์ตา” สู่ “นูซันตารา”

แม้ว่าจาการ์ตา จะมีองค์ประกอบครบสำหรับการเป็นเมืองหลวงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และเพียบพร้อมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย แต่จาการ์ตาก็หนีไม่พ้นปัญหาที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นความแออัดของผู้คน และปัญหาน้ำท่วมที่เผชิญมาอย่างยาวนาน

ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนที่ราบต่ำ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจาการ์ตา ที่กว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จนผู้เชี่ยวชาญถึงกับออกมาประเมินเอาไว้ว่าเมืองทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตากว่าร้อยละ 95 จะจมใต้บาดาลภายในปี 2593

นั่นแค่ในส่วนของทางตอนเหนือของจาการ์ตา แต่หากพูดถึงภาพรวมของทั้งเมือง ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้จาการ์ตาเสี่ยงจมบาดาล ก็คือการลักลอบขุดน้ำใต้ดินมาใช้ เนื่องจากประชากรมาถึง 2 ใน 3 ของเมืองแห่งนี้เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำประปา จึงต้องอาศัยแหล่งน้ำบาดาลแทน จนนำมาสู่การเกิดแผ่นดินทรุดตัวที่กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ซ้ำเติมปัญหาน้ำท่วม ประกอบกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง

รัฐบาลของอินโดนีเซีย จึงได้ประกาศย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมาจาก กรุงจาการ์ตา ที่เกาะชวา ไปที่ “นูซันตารา” ซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ในปี 2567

เวนิส อิตาลี
เมืองแห่งสายน้ำ ที่กำลังจะจม

ภาพฝันของเมืองสุดโรแมนติกแห่งนี้ เคยเกือบจะจมบาดาลมาแล้วหลายครั้งนับไม่ถ้วน ด้วยความที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่มีคลองหลายสายตัดผ่านตามบ้านเรือน ทำให้ชาวเมืองเวนิสต้องเจอกับน้ำท่วมบ่อยครั้ง จนเกิดการปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับลักษณะของเมือง

แต่ในปี 2562 ได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ จากระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดในรอบ 50 ปี ณ ห้วงเวลานั้น สถานที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจและร้านรวงหลายแห่ง ต้องตกอยู่ในสภาพลอยน้ำ ขณะที่เรือโดยสารหลายลำก็ไม่สามารถออกไปรับผู้โดยสารได้

ในปี 2564 เวนิสได้เผชิญกับระดับน้ำที่สูงขึ้นอีกครั้ง แม้คราวนี้จะไม่ได้หนักเหมือนปี 2562 เพราะระดับน้ำสูงไม่ถึง 100 เมตร แต่เหตุการณ์นี้ผิดปกติตรงที่ ระดับน้ำที่สูงขึ้นนั้นดันเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งโดยทั่วไปน้ำจะสูงขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงฤดูหนาวของทุก ๆ ปี

เหตุการณ์นี้กลายเป็นที่ถกเถียงเป็นวงกว้าง จนได้ข้อสรุปว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการเดินทางด้วยเรือภายในตัวเมือง ได้สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือน จนเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่เวนิสอาจไม่สู้ดีนักในอนาคต

ด้วยความที่เวนิส เป็นดั่งเพชรเม็ดงามของอิตาลี ทางการจึงทุ่มงบประมาณในการรับมือกับการป้องกันน้ำท่วม อย่างโครงการ “MOSE” ซึ่งเป็นประตูที่กันน้ำทะเลไม่ให้เข้าสู่ตัวเมือง ป้องกันไม่ให้ตัวอาคารบ้านเรือนจม การจากถูกกัดเซาะของคลื่นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังคงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขวางทางระบายน้ำจากเมืองออกสู่ทะเล และอาจสร้างความสูญเสียให้แก่สิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำได้

อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
จัดหนักนวัตกรรม ลดเสี่ยงน้ำท่วม

น้ำท่วม ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ อย่าง อัมสเตอร์ดัม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่นเดียวกับพื้นที่เมืองที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณรอบแหล่งน้ำที่มีน้ำท่วมขัง ทำให้ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้จึงใช้วิธีรับมือกับอุทกภัย ด้วยการสร้างระบบควบคุมและป้องกันภัยมาใช้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยน ความท้าทายใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้น โดยเว็บไซต์ Earth.org เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันทางการจะสามารถจัดการกับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในระดับ 1 เมตรได้ แต่ในอีก 79 ปีข้างหน้า ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าระดับน้ำทะเลจะมีโอกาสเพิ่มสูงมากถึง 2 เมตร จากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับน้ำทั้งหมดของประเทศไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคตได้ และจะทำให้ผู้คนมากว่า 700,000 ราย หรือร้อยละ 97 ของประชากรเมืองทั้งหมด ต้องอพยพออกจากอัมสเตอร์ดัม

ทางรัฐบาลจึงลงทุนอย่างมหาศาลไปกับนวัตกรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นจากลมพายุรอบพื้นที่ที่ติดทะเลทั่วประเทศ สร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าว เพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้ามายังแม่น้ำ ซึ่งจะเสี่ยงทำให้เมืองเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังมีการสร้างบ่อเก็บน้ำ Water Park ที่เมืองรอตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศ ซึ่งจะกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ตัวเมือง รวมไปถึงการสร้าง Maeslant Barrier ซึ่งเป็นแผงเหล็กกั้นน้ำทะเลขนาดใหญ่ ที่ควบคุมโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งแผงเหล็กจะปิดตัวเองเมื่อเมืองรอตเตอร์ดัมเจอกับอุทกภัยจากน้ำทะเล

มะนิลา ฟิลิปปินส์
ฝนถล่ม พายุเข้า จัดหนักรื้อการบริหารน้ำท่วม

ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ อย่างมะนิลา เป็นหนึ่งในเมืองที่เสี่ยงอุทกภัยมากที่สุดอีกแห่งในโลก ด้วยความที่เมืองตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อีกทั้งยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่นที่เข้ามาทีเฉลี่ยปีละ 20 ลูก

นอกจากนี้เมืองมะนิลา ยังต้องประสบกับปัญหาคลาสสิกของเมืองที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลคือ เจอน้ำทะเลหนุนสูง อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ขณะที่ระบบการระบายน้ำของเมืองยังไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักได้ ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในเมืองมะนิลา บางส่วนอพยพออกจากเมือง ซึ่งก็นำไปสู่การตกงาน และการขาดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทางฟิลิปปินส์ ได้จัดทำแผนแม่บทสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในกรุงมะนิลาและพื้นที่โดยรอบ เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก (World Bank) ทั้งการประเมินความเสี่ยงจากอุทกภัยอย่างละเอียด ปรับปรุงระบบเตือนภัยน้ำท่วม รวมถึงแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น การบริหารจัดการน้ำผ่านเขื่อน การปรับปรุงเส้นทางการระบายน้ำ นอกจากนี้เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบไม่ว่าจะเป็น การออกกฎระเบียบการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ลุ่มน้ำ และการปลูกป่า

โฮจิมินห์ เวียดนาม
เผชิญปัญหาซับซ้อน น้ำท่วม

หากพูดถึงเมืองใกล้จมบาดาล โฮจิมินห์ เป็นเมืองที่ติดโผเกือบทุกสำนัก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เมืองแห่งนี้เสี่ยงท่วมจนใกล้จะจมน้ำ ค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีหลายปัจจัยมาประกอบกัน ซึ่งแทบจะทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก มักจะเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่ม เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนแม่น้ำ 2 สายหลักที่เป็นเส้นทางระบายน้ำอย่าง แม่น้ำไซง่อน และแม่น้ำดงใน ก็มักจะเอ่อล้มเข้าท่วมประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอยู่เสมอ

หากว่ากันตามลักษณะของพื้นที่ นครโฮจิมินห์ ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1 เมตร ซึ่งก็เป็นดั่งปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เมืองแห่งนี้เข้าข่ายเสี่ยงน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่มาจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันอย่างการสกัดน้ำบาดาลอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้เกิดการทรุดตัวลงของแผ่นดิน

ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่อุ้มน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดั่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ยังได้ถูกการขยายตัวของตัวเมืองรุกคืบ เข้ามาสร้างอาคารและที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็นำมาสู่ปัญหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

โดยทางเว็บไซต์ Earth.org ประเมินว่านครโฮจิมินห์ จะต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร และพื้นที่เกือบร้อยละ 20 จะถูกน้ำท่วมภายในปี 2643 ทำให้จะต้องมีการเคลื่อนย้ายประชากรเกือบ 7 ล้านคน

สำหรับภารกิจสู้น้ำท่วม ทางการของเวียดนามได้วางแนวทางแก้ปัญหา เอาไว้หลายโครงการ อาทิ การขุดลอกและปรับปรุงคลองสำคัญๆ ของนครโฮจิมินห์ พร้อมทั้งสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมกระแสน้ำ ตามพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดน้ำท่วม

กรุงเทพฯ ประเทศไทย
เมืองช้ำจากน้ำท่วม

กลับมาที่บ้านเรา ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมมักจะมีคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมว่า “ปีนี้น้ำจะท่วมเหมือนปี 54 ไหม?” แต่มาปีนี้คำถามที่เกิดขึ้นได้ไปไกลกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่ขยายไปสู่คำถามที่ใหญ่และดูจะเป็นเรื่องท้าทายมากกว่า นั่นก็คือ “ในอนาคต กทม. จะจมน้ำไหม?”

จากการที่ปีนี้ หลายพื้นที่ได้ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมขัง ไม่ว่าจะฝนตกหนักหรือไม่หนัก และหากในช่วงไหนที่การก่อตัวของพายุจากประเทศเพื่อนบ้านพาดผ่านเข้ามา เมืองทั้งเมืองแทบจะลอยน้ำเพียงข้ามคืน อีกทั้งตามตรอกซอกซอยต่างๆ จากถนนทางเดิน กลายเป็นคลองขนาดย่อมโดยอัตโนมัติ

แม้ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ลุยงานกันต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคลอง การวางแผนบริหารจัดการน้ำตามคลองสายต่างๆ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กทม. ได้มีการหารือกับนักวิชาการถึงแผนการระบายน้ำในเมือง โดยเสนอให้มีการผันน้ำผ่านจังหวัดอื่น เพื่อสร้างความสมดุลระบายน้ำ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

แต่ในระยะยาว เรื่องปัญหาของน้ำท่วมในเมืองยังคงมีอีกหลายประเด็น ที่ต้องไล่เรียงและทบทวนกันหลากหลายมิติ ว่าเราจะหาทางรับมือกับปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างยั่งยืนได้อย่างไร หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น