Beautiful Plants For Your Interior

บางกระเจ้า ในวันที่สายน้ำเริ่มหายไปจากชีวิต

เมื่อมนุษย์ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับสายน้ำ การดำรงอยู่ของสายน้ำนั้นจึงดูเหมือนเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะเมื่อทุกครั้งที่เปิดก๊อกน้ำ น้ำก็ไหล ไม่ได้เป็นเรื่องทุกข์ร้อนอะไรในเมื่อน้ำสามารถไหลได้ 24 ชั่วโมง แต่น้ำในความหมายของคนปัจจุบันจึงเป็นเพียง “น้ำที่ส่งผ่านท่อ” หาใช่ “ลำน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง” พื้นที่เคยเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มถูกทดแทนด้วยสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือน การตัดที่ขายเป็นล็อต ๆ และถมที่ดินด้วยมวลดินต่างถิ่นปริมาณมหาศาล

สิ่งเหล่านี้เองกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ “บางกระเจ้า” ว่ากันว่าพื้นที่สีเขียวซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “ปอดของกรุงเทพฯ” กำลังตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้านหนึ่งมีความพยายามอนุรักษ์ อีกด้านถูกรุกไล่จากกระแสการพัฒนาที่ไม่อาจจะต้านทาน

“ถ้าคุณจะชูพื้นที่สีเขียว คุณจะทำให้พื้นที่นี้หายไปไม่ได้ ถ้าจะปลูกบ้านต้องปลูกต้นไม้คืนด้วย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว” อาจิตร มะลิรัตน์  รองประธานชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตำบลบางกอบัว  คนในบางกระเจ้าเรียกกันติดปากว่า “อาจิตร” ผู้เติบโตในพื้นที่บางกระเจ้ามาตั้งแต่เด็ก ผูกพันกับสายน้ำอย่างแนบแน่น ทั้งมีสถานะเป็นฝีพายชั้นเยี่ยมตั้งแต่สมัยอดีต ขณะที่ จ.สมุทรปราการยังมีการแข่งเรือพาย และการประกวดการเห่เรือที่เรียกผู้คนมาประชันฝีมืออย่างเนืองแน่นจากทั่วประเทศ อาจิตรก็มีฝีมือในการร้องเห่ที่ฝึกฝนด้วยตัวเองจนมีลูกเล่นที่ไม่เหมือนใคร ถือว่าอาจิตรเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนในประเทศ ที่ยังมีภูมิปัญญาการเห่เรือติดตัวถึงทุกวันนี้ และยากที่จะมีคนมาสานต่อ

สายน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตอาจิตร เพราะหน้าบ้านก็มีคลองสายเล็ก ๆ ที่สามารถไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ได้เพียงพายเรือไม่กี่อึดใจ อาจิตรจึงเป็นผู้ที่เห็นวิวัฒนาการการเติบโตของเมืองด้วยตาของตนเองตลอดเวลา ตั้งแต่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่มีโรงงานใด ๆ ปรากฏ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นท่าเรือรับส่งน้ำมันและกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โต ขณะที่ฝั่งบ้านของอาจิตรยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวผืนสุดท้ายในบางกระเจ้า และกำลังถูกรุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ

“ชีวิตของผมผูกพันกับน้ำมาทั้งชีวิต” อาจิตรกล่าวถึงสายน้ำทุกครั้งด้วยดวงตาที่มุ่งมั่นและเต็มไปด้วยเปล่งประกาย

“ระบบชีวิตมนุษย์ขาดอาหาร 3 วันก็ไม่ตาย ถ้าขาดน้ำอยู่ไม่รอดแน่ ๆ นอกจากนี้น้ำยังเป็นหัวใจของคมนาคม เราหากินกับประมง เราได้การท่องเที่ยวทางน้ำ น้ำจึงมีประโยชน์ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ถูกหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้เราดันตัดถนนทับสายน้ำกันไปหมด คุณอาจบอกว่าสะดวก แต่คุณก็ตัดพื้นที่ทำกินไปไม่รู้เท่าไหร่ อาคิดว่า เราต้องมามองกันใหม่ ว่ามันคุ้มไหมที่เราเอาทรัพยากรไปแลก” อาจิตรกล่าว

คุ้งบางกระเจ้า เป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนบริเวณส่วนโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาเลียบถนนพระราม 3 เพียงข้ามไปอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาก็ถึงบางกระเจ้า พื้นที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีคุณค่าทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม โดดเด่นทางระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้กำลังเจอกับปัญหาที่มาควบคู่กับความเจริญของเมือง

02

ปัญหาน้ำเค็มและน้ำเสียที่สั่นคลอนบางกระเจ้า

แม้บางกระเจ้าจะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่ปริมาณน้ำจืดที่ใช้ในพื้นที่กลับไม่เพียงพอ เพราะน้ำจืดในคุ้งบางกระเจ้าจะมีเพียง 3-4 เดือนต่อปีเท่านั้น (แม้ช่วงฤดูฝนก็จะมีน้ำเค็มผ่านเข้ามาผสมตลอดเวลา) จากนั้นจะมีน้ำเค็มติดต่อกันราว 8-9 เดือน ซึ่งเดิมเคยมีน้ำจืดปีละ 8 เดือน และมีน้ำเค็ม 4 เดือน ทำให้พืชผลเสียหาย หลายชนิดสูญพันธุ์ เช่น มะม่วงนำน้ำดอกไม้ มะเหมี่ยวลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

จากข้อมูลเฝ้าระวังของหน่วยงานโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 มีค่าความเค็มเฉลี่ยสูงกว่า 4 กรัมต่อลิตร โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 17 กรัมต่อลิตร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการเกษตรกรรมในพื้นที่อย่างร้ายแรง

แม้จะมีความพยายามที่ กทม. ร่วมกับพื้นที่บางกะเจ้า ขอใช้ประโยชน์จากน้ำจืดที่บำบัดแล้ว ที่ปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางช่องนนทรี ให้ไปเจือจางน้ำเค็มที่ชุมชนบางกะเจ้า (ผ่านท่อระบายน้ำที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ) เพื่อให้ได้น้ำจืดที่ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้ แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความเค็มได้มากนัก

ชีวิตชาวสวนในบางกระเจ้าจึงมีความท้าทายสูงมาก หลายสวนต้องล้มตายไปเพราะปริมาณน้ำเค็มที่ยาวนานเกินไป ชาวสวนที่ไม่อยากปล่อยที่ทิ้งไว้ก็ขายต่อ มีการถมที่ดินเพื่อไปสร้างบ้านพัก ตัดถนนให้รถผ่าน ระยะเวลาเพียง 10 ปี พื้นที่ในบางกระเจ้าก็ถูกจับจองเป็นบ้านเรือน ตลาด และแหล่งท่องเที่ยวที่สะดวกสบาย ปัญหาการจัดการขยะจึงตามมา เป็นพลวัตรที่ควบคู่กับปริมาณในประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ตอนนี้บางกระเจ้ากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะ และการบำบัดน้ำเสียที่ในพื้นที่ยังไม่มีกฎหมายชัดเจน อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนอยู่อาศัยอย่างอิสระจนเคยชิน และลืมคิดไปข้างหน้าถึงอนาคตที่ว่า ประชากรจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่ ๆ ตอนแรกเราอาจมีบ้านอยู่ติดริมคลอง 10 หลัง ภายในไม่ถึง 10 ปีมันเพิ่มเป็นพันหลัง ทั้ง ๆ ที่กฎหมายยังไม่ออกบังคับว่าจะต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย จุดนี้คือปัญหาใหญ่” อาจิตรกล่าว

ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในคุ้งบางกระเจ้าอีกส่วนหนึ่ง คือขยะที่ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าอยู่เหนือการควบคุมของคนบางกระเจ้า ขยะทางน้ำเหล่านี้ระบายจากคลองบางนาบริเวณวัดบางนานอก และขยะจากเรือลากจูงทรายเรือขนส่งที่มาจอดหยุดพักรอน้ำขึ้น-น้ำลง  บริเวณ ต.บางน้ำผึ้ง  ก่อนจะลอยทะลักเข้ามาในแม่น้ำจนบ้านเรือนที่อยู่รอบแม่น้ำเจ้าพระยาต้องทำตาข่ายกันขยะไม่ให้มุดเข้าใต้ถุนบ้าน แม้ทางโครงการจัดการขยะลอยน้ำด้วยทุ่นกักขยะ (BOOM) โดยการติดตั้งทุ่นกักขยะ จะช่วยดักขยะที่ถูกพัดพามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ไม่เพียงพอ คนในชุมชนบางกระเจ้าก็ต้องคิดค้นภูมิปัญญาในการดักขยะด้วยตัวเอง สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ก็ดีกว่าตื่นมาแล้วพบขยะล้นหน้าบ้านจนออกเรือไม่ได้

“นักท่องเที่ยวบางคนเดินทางมาบางกระเจ้าช่วงที่ขยะพีคมาก ๆ ก็บ่นว่าบางกระเจ้าสกปรกจัง ทำไมคนในชุมชนมักง่าย เขาเขียนคอมเม้นท์ว่า สกปรกไม่น่าเที่ยว แล้วเขาก็กลับไปเมืองของเขาต่อ ไม่ได้แบกเอาปัญหาไปด้วย ผมอยากจะบอกว่า คนในชุมชนพยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่บางกระเจ้ามีปัจจัยรายล้อมมากเหลือเกิน เราต้องการความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ด้วย ไม่ได้อยากมาเที่ยวเพราะคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว อยากให้มาช่วยเป็นอีกแรงด้วย” อาจิตรย้ำเตือนอย่างหนักแน่น และพายเรือไปให้เห็นบริเวณที่คลองมีขยะอยู่มาก

ทุกวันนี้อาจิตรยังพยายามรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมและภูมิปัญญาของคนในชุมชนเอาไว้ โดยใช้เส้นทางวิถีคลองแพ ตำบลบางกอบัว ให้เป็นพื้นที่น่าเที่ยว ธรรมชาติน่ายล โดยอาจิตรจะชวนพายเรือผ่านคลองและลำประโดงต่าง ๆ ให้เห็นวิถีชีวิตแบบชาวคลอง พร้อมชี้ในเห็นถึงปัญหาขยะและปัจจัยต่าง ๆ ที่ท้าทายคนบางกระเจ้าแบบเปิดอก คุณสามารถเรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศ และตระหนักถึงว่า ตัวเราเองก็เป็นจุดเริ่มต้น และจุดแก้ปัญหาได้เช่นกัน หากเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติรอบตัว

สนใจติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมของกิจกรรม  คุณสิทธิพงษ์ ภู่ถาวร โทรศัพท์ 090-986-7987