Beautiful Plants For Your Interior
คลองบางมด นับว่าเป็นคลองสายย่อยที่มีเส้นทางตรง เมื่อเทียบกับถนนที่มีโค้งอ้อมไปมา ทำให้ในอดีตการสัญจรทางเรือจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะพื้นที่ทำมาหากินของผู้คนบางมดส่วนใหญ่ก็จะอยู่ติดริมน้ำ แต่ในสมัยนี้คงหนีไม่พ้นรถราที่แล่นเร็วกว่าเรือยนต์เสียอีก
บางมดหรือบริเวณคลองบางมดในอดีต คลองเรียกว่ารางแม่น้ำ เป็นลำรางเล็ก ๆ เพื่อจะให้น้ำไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สมัยก่อนใช้เรือในการสัญจรกับเดินตามสวน ตามท้องนา
เสียงของ “ลุงวิชัย” หรือ “วิชัย อินสมะพันธ์” เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอม ได้เล่าย้อนถึงคลองบางมดในสมัยที่ตนยังเป็นเด็ก เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวสวน ในปัจจุบันลุงวิชัยอาศัยอยู่ในคลองบางมดแห่งนี้ และยังคงเป็นชาวสวนที่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลพื้นที่สวนหลังบ้าน ด้วยท่าทางที่แข็งแรง และทะมัดทะแมงเหมือนกับคนวัยหนุ่ม
ฝั่งธนฯ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงนิเวศวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนริมคลองบางมดในอดีตจะใช้แม่น้ำและลำคลองเป็นทางสัญจรหลัก การตั้งถิ่นฐานจึงมีเรื่องราวของวิถีชีวิต เชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่สามารถกลมกลืนทางวัฒนธรรมประเพณีได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันนี้พื้นที่คลองบางมดยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ มีสวนแบบผสมผสาน ทั้งผลไม้ และต้นไม้ยืนต้นอีกหลากหลายชนิด และยังคงรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกษตรสายคลองให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้
เมื่อส้มบางมดเริ่มหายไป ต้นมะพร้าวจึงเข้ามาแทนที่
“บริเวณนี้ในเวลาต่อมาจะมีการพัฒนาจากเป็นท้องนา ยกเป็นสวน เนื่องจากว่ามีชาวจีนคนหนึ่งนำพันธุ์ส้มเขียวหวานมาปลูก ปรากฏว่าได้ผลดี เนื่องจากว่าดินบริเวณนี้ทั้งหมด เคยเป็นทะเลเก่ามาก่อนและเกิดการทับถมซากหอยซากพืชซากสัตว์เป็นเวลาพันปี ก็จะเป็นดินสีดำและค่อนข้างจะเหนียว ซึ่งส้มเขียวหวานจะชอบ เพราะฉะนั้นส้มเขียวหวานของบางมดจะมีรสชาติที่ต่างจากส้มเขียวหวานที่ปลูกที่อื่น”
ส้มบางมด เป็นส้มที่มีชื่อเสียงมานาน ขึ้นชื่อว่าเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ด้วยเสน่ห์ของรสชาติที่หวานอร่อยไม่เหมือนส้มเขียวหวานทั่วไป ในปัจจุบันส้มบางมดแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกส้มบางมด ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักหลายครั้งทำให้ต้นส้มถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน เกิดความเสียหาย อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องน้ำเค็มที่เข้ามาทำให้ชาวสวนไม่สามารถปลูกส้มได้อีกต่อไป
นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวสวนแถบบางมดต้องหันมาประกอบอาชีพอื่นแทน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ สวนที่เคยปลูกส้มเขียวหวานก็กลับกลายเป็นหมู่บ้านบ้าง และยังมีบ้านจัดสรรหลายโครงการที่รุกคืบเข้ามาในพื้นที่คลองบางมด
การเปลี่ยนแปลงก็คือเมื่อพื้นที่สวนไม่สามารถปลูกส้มได้ ลุงจึงคิดว่าอยากลองปลูกพืชชนิดอื่นดูบ้าง ปรากฎว่ามีเพื่อนปลูกมะพร้าวน้ำหอม ลุงก็ได้ไปซื้อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมมา 400 ต้น นำมาปลูกตามถนนตามร่องสวน จากนั้นลุงก็ทำสวนมะพร้าวน้ำหอมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และน้ำมะพร้าวของลุงรสชาติจะหวาน หอม
มะพร้าวน้ำหอม ตามร่องสวน
เมื่อพูดถึงมะพร้าวน้ำหอม ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมทานกันสด ๆ หรือบ้างก็นำไปทำอาหารได้หลากหลาย อาทิ ขนมหวาน น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หรือจะนำใบมะพร้าวมาทำเป็นการละเล่นต่าง ๆ อย่างการสานถักเป็นรูปปลาตะเพียน เป็นต้น “ที่สวนลุงไม่ได้มีแค่ต้นมะพร้าว จะมีต้นไม้อื่น ๆ ด้วย เช่น มะม่วง ชมพู่ ละมุด กล้วย ประมาณ 10 อย่าง แต่หลัก ๆ คือมะพร้าว”
ที่สวนมะพร้าวน้ำหอมลุงวิชัย ได้เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสกับวิถีแห่งชาวสวน พร้อมกับนั่งทานน้ำมะพร้าวที่หอมหวานชื่นใจ ดื่มด่ำกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ตรงหน้า ลุงวิชัยแม้ในปัจจุบันจะมีอายุ 78 ปีแล้ว แต่ความทรงจำในอดีตยังคงชัดเจนอยู่ เพราะลุงวิชัยมักจะชอบเล่าเรื่องราวของคลองบางมดให้กับผู้มาเยือนฟังอยู่เสมอ ราวกับว่าเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง
“สำหรับเสน่ห์คลองบางมดถ้าลุงดูแล้วก็คือธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ได้เห็นต้นไม้ ผลไม้ ถนนปูนที่ทำเลียบคลองไปเรื่อย ๆ ผู้คนในชุมชนเป็นคนที่มีจิตใจดี ต้อนรับแขกผู้มาเยือนทุกคน เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากจะมาเที่ยวคลองบางมด”
“สิ่งที่ลุงได้ทำมาก็เลยฝังอยู่ในจิตใจว่าการเกษตรไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปอายใคร เพราะว่าบรรพบุรุษเราก็เป็นเกษตรทั้งหมด ลุงก็เป็นเกษตร”
วิถีชาวสวน และวัฒนธรรมเกษตรสายคลองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคลองบางมดมาอย่างยาวนาน แม้กาลเวลาจะผ่านมาหลายช่วงอายุคนพื้นที่ทางการเกษตรก็จะต้องถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน การอนุรักษ์วิถีชีวิตและภูมิปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“ความใฝ่ฝันของลุงคืออยากเห็นคลองบางมดสะอาด น้ำใส ไม่มีน้ำเค็มเข้ามา จะทำให้การเพาะปลูกกลับมาดีอีกครั้ง อยากให้คนมาเที่ยวเกิดความประทับใจ และอยากให้กลับมาที่คลองบางมดอีก” ลุงวิชัยกล่าวพร้อมกับหัวเราะออกมาอย่างเสียงดัง ทำให้คนฟังเกิดความประทับใจ
บทความโดย ฐิติพร มณีแสง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ |