Beautiful Plants For Your Interior
สถาปัตยกรรมในประเทศไทยมีรูปแบบที่หลากหลาย เร้าให้เราครุ่นคิดถึงเรื่องราวและความเป็นมา ที่กว่าอาคารเหล่านี้จะมีเอกลักษณ์และความสวยงามได้ ก็ล้วนผ่านช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่ตลบอบอวนจนสุกงอม กลายเป็นผลลัพธ์ของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า และ “ตลาดใต้พิษณุโลก” คือ หนึ่งในความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนที่ใดในประเทศ
แม้ปัจจุบัน จ.พิษณุโลก จะมีอาคารที่มีรูปแบบทันสมัยมากขึ้น ตามการเจริญเติบโตของเมือง แต่ในย่านเมืองเก่าก็ยังคงรักษารูปแบบอาคารดั้งเดิม และกลิ่นอายของความเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้น ซึ่งพิษณุโลกเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้
เมื่อพูดถึงตลาดใต้ในมุมของชาวพิษณุโลกเปรียบเสมือนพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง เป็นแหล่งการค้าที่เก่าแก่ คับคั่งไปด้วยสินค้า ร้านค้า รวมทั้งเป็นแหล่งเชื่อมต่อทางคมนาคมสำคัญของเมืองพิษณุโลกด้วย
การเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมตลาดใต้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เดือนมกราคม พ.ศ. 2500 ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองครั้งใหญ่ของจังหวัดความพิษณุโลกที่สร้างความเสียหาย และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสถาปัตยกรรมและผังเมือง เนื่องด้วยเสียหายที่เกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ทั้งในย่านตลาด ชุมชน และสถานที่ราชการเป็นบริเวณกว้าง อาคาร ร้านค้าที่สร้างด้วยไม้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เพลิงไหม้ครั้งนี้ใช้เวลาในการดับยาวนานถึง 12 ชั่วโมง
ต้องย้อนกลับไปก็คือว่าตึกแถวเดิม ที่เป็นอาคารค้าขายจะเป็นเรือนแถวไม้ทั้งหมด พอในช่วงปี 2500 ที่เกิดเหตุไฟไหม้เมืองครั้งใหญ่จึงทำให้ไฟติดได้ง่ายและลามไปทั่วเมืองอย่างรวดเร็ว ก็จะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นภาพถ่ายเก่า ๆ อยู่ ทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เวลาเราไปเดินในเมืองพิษณุโลกเราก็จะเห็นอาคารที่ติดป้ายว่าบ้าน 2500 ก็เป็นลักษะของตัวอาคารที่เกิดขึ้น เป็นผลกระทบจากยุคนั้น
รศ. ศุภกิจ ยิ้มสรวล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
อาจารย์มีความสนใจในเรื่องสถาปัตยกรรมของจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ได้มีโอกาสมาทำงานวิจัยในพื้นที่ของตลาดใต้และมีความหลงไหลในตัวอาคาร
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองจังหวัดพิษณุโลก อาคารเรือนไม้ที่เคยมีอยู่ตามท้องถนนก็ไม่หลงเหลือให้เห็นในรูปแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำที่ยังพลุ่งพล่านของคนรุ่นเก่าที่ตอนนั้นยังเป็นหนุ่ม สาว และเด็ก ๆ กันอยู่ คอยส่งต่อคำบอกเล่าให้ลูกหลานได้รับฟัง
เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้นำการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของย่านการค้าแห่งนี้ให้กลายเป็นย่านการค้าสมัยใหม่ ที่มีอาคารพาณิชย์ขึ้นมาแทนที่ การฟื้นฟูเมืองได้มีการวางผังเมือง สร้างอาคาร ตัดและขยายถนนใหม่เป็นถนนคอนกรีตและลาดยาง สร้างหอนาฬิกาประจำเมือง โดยเชื่อมถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้เมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยออกแบบให้ถนนทุกสายมาบรรจบกันที่วงเวียนหอนาฬิกา ส่งผลให้มีการขยายตัวของชุมชน และร้านค้าใหม่ ๆ ตามแนวถนนเหล่านี้ด้วย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดใต้กลับมามีความคึกคักเฉกเช่นเดิมอีกครั้ง
“ซึ่งทุกวันนี้ตลาดใต้ก็ยังเห็นเป็นภาพเหมือนในยุคนั้นอยู่ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนสภาพจากตึกไม้ เรือนแถวไม้ เป็นตึกปูน 2 ชั้นบ้าง 3 ชั้นบ้าง จะเป็น 3 ชั้นในบริเวณที่เป็นหัวมุมต่าง ๆ” อาจารย์ศุภกิจ กล่าว
สถาปัตยกรรมและการเปลี่ยนแปลงผ่านยุคสมัย
เมื่อได้เข้าไปเยือนตลาดใต้ สิ่งที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจนอกเหนือจากอาหารที่มีหลากหลายแล้ว ก็จะพบกับตึกรามบ้านช่องที่มีสไตล์ที่แตกต่างกัน มีตึกสูง 2 ชั้นบ้าง 3 ชั้นบ้าง รวมถึงลวดลายดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ตามผนังบ้าน และตึกหัวมุมของที่นี่ก็เป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนตึกหัวมุมที่เราพบเห็นได้ในทั่วไป นั่นเพราะสถาปัตยกรรมบริเวณตลาดใต้ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบสากลเรียบ และแนวจัดระเบียบรูปด้าน ซึ่งเป็นแบบที่กรมโยธาธิการทำออกมาใน พ.ศ. 2470 และอีกช่วงหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของตึกแถวคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดเป็น Building Typology ใหม่ ๆ ขึ้นมา และมีการจัดแบ่งได้เป็น 9 โซน แต่ละโซนก็จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เพราะว่ารูปแบบอาคารจะมีเรื่องของการเปลี่ยนผันแต่ละช่วงเวลานั่นเอง
“ที่น่าสนใจของตัวตึกแถวในพิษณุโลก ก็คือว่าผู้ถือครองอาคารหรือผู้สร้างได้ทิ้งลายเซ็นของตัวเอง ซึ่งจะมีลายปูนปั้นอยู่ทางข้างหน้า เป็นลายเหมยฮัวบ้าง ลายดอกเหมย ลายเทพพนม เป็นลายบัวคว่ำ บัวหงาย เราเห็นแล้วก็แปลกดีและก็อาจจะไม่ค่อยได้เห็นบ่อย ๆ นักในจังหวัดอื่น ๆ” อาจารย์ศุภกิจ กล่าวพร้อมชี้ไปยังสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนตึก
โซนที่ 1 ถนนนเรศวร (แถบร้านศรีพานิช) และถนนพุทธบูชา (แถบร้านเสบียงบุญ)
ร้านเสบียงบุญ บนถนนพุทธบูชา
สำหรับโซนนี้จะมีลักษณะ (Typology) ที่ให้เห็นว่าเป็นเมืองที่ยังมีฐานคิดแบบยุโรปฝังรากอยู่ มีการทำแบบ Building Block ข้างในมีบ้านพักอยู่ ข้างนอกมีการสร้างตึกเพื่อรักษาแนวถนน ในทุกหัวมุมจะมีตึกหัวมุมที่มักจะสูงกว่าตึกด้านข้างเสมอ บางตึกก็มีความสูงที่เท่ากันจะเป็นลักษณะการปาดมุม “ตลาดใต้เมืองตึกหัวมุม” คำนิยามของตลาดใต้ที่มีลักณะเฉพาะต่างจากสถานที่อื่น ๆ อีกลักษณะหนึ่งของโซนนี้คือเป็นกันสาดแบบเรียบง่าย ด้านล่างเปิดโล่ง เข้าใจว่าในอดีตอาจจะมีบานเฟี้ยม แต่ว่าในภายหลังการใช้บานฟี้ยมอาจจะค่อนข้างยากจึงนำออกไป และหายไปตามการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้บางอาคารมีการออกแบบที่เป็นของตัวเอง คือการทำร่องให้เป็นร่องเล็ก ๆ เป็นสไตล์ของยุคสมัย “Rustication” ได้รับอิทธิพลมาจากยุคโมเดิร์น (Modern) ถือได้ว่าเป็นลักษะพิเศษของท้องถิ่นย่านตลาดใต้
โซนที่ 2 ถนนนเรศวร (แถบร้านพิษณุโลกศึกษาภัณฑ์) ถนนบรมไตรโลกนารถ (แถบธนาคารทหารไทย) และถนนพุทธบูชา 1 (แถบร้านปักนั้ง)
ร้านพิษณุโลกศึกษาภัณฑ์ ถนนนเรศวร
ในบริเวณนี้พบว่ามีลักษณะเดิมที่เคยเป็นบานไม้ มีการกรุบานไม้ และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นลักษณะกระจก ตึกหัวมุมจะเป็น 3 ชั้น (เหมือนโซนที่ 1) ด้านล่างมีด้านหน้าเปิดโล่ง และด้านบนเป็นหน้าต่าง 3 ช่วงบาน และยังพบว่าในโซนนี้จะมีปูนเป็นลักษณะของครีบมากกว่าเป็นครีบกันสาด ซึ่งมาช่วยเน้นให้ตัวกันสาดมีความโดดเด่นขึ้น และมีการต่อเติมตามยุคสมัยของการใช้งาน
โซนที่ 3 ถนนพญาลิไท (แถบต้มเลือดหมูฉี่ชุ่นลี่) และถนนพุทธบูชา 1 (แถบร้านปักนั้ง)
อาคารที่มี "คิ้วบัว" หรือแบบลวดบัว
ในโซนนี้ได้เขียนไว้ว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 มีสิ่งที่สำคัญคือ “ลายดอกไม้” เป็นรูปดอกเหมย บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างตึกที่มาจากชาวจีน ถือว่าเป็นเรื่องเล่าชั้นดีของย่านตลาดใต้ นอกจากดอกเหมยก็จะมี “เขิบ” หรือแบบลวดบัว ฝรั่งเรียกกันว่า Curb “คิ้วบัว” ระเบียงชั้นที่ 3 จะมีคิ้วที่มีลวดลายและมีพื้นผิวของการสลัดปูน และเริ่มมีการใช้หน้าต่างกระจกบานคู่ ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง
โซนที่ 4 ถนนพุทธบูชา 1 (แถบร้านปักนั้ง) ถนนพญาลิไท (แถบร้านต้มเลือดหมูฉีซุ่นลี่) และถนนบรมไตรโลกนารถ (แถบธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์)
ตึกคุณยายลี้ มีปูนปั้นอักษร 2501 และลายดอกประจำยามประดับอยู่
ตึกบริเวณนี้ภาพรวมยังเป็นลักษณะเหมือนโซนที่ 3 คือมี “ดอกประจำยาม” คล้าย ๆ รูปข้าวหลามตัด แต่เท่ากัน 4 ด้าน แล้วเขียนว่า “2501” มีแค่กันสาด แต่เดินออกมาไม่ได้ ไม่เน้นกรอบตัวหน้าต่าง
โซนที่ 5 ถนนพุทธบูชา (แถบร้านราชาริทน้ำการไฟฟ้า) ถนนพญาลิไท (แถบต้มเลือดหมูฉีซุ่นลี่) และซอยเจ้าพระยาจักรี
ร้าน Street Corner บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โซนนี้มีลักษณะเด่นคือมีกันสาด เนื่องจากคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คาดว่ามีช่างจำนวนมากในพื้นที่ที่อาจจะมีประสบการณ์ทำแล้วมีความรู้ความสามารถ ประกอบกับเทคโนโลยีวัสดุที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นการพัฒนาการในเรื่องของการก่อสร้างที่ชัดเจน
โซนที่ 6 ถนนพุทธบูชา (แถบร้านสาระรส) ซอยเจ้าพระยาจักรี และแถบอาคารเทพรักษา
โรงสีไฟสิงหวัฒน์ ตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา
สำหรับในพื้นที่โซนนี้จะมีความน่ารักโดดเด่นขึ้นมา คือลักษณะทั่วไปจะมีความคล้ายกับโซนอื่น ๆ มีกันสาด บ้านไม้ แต่พื้นที่บริเวณนี้จะมีหลังคาโค้ง ที่แสดงถึงทักษะและความสามารถของช่างว่าเก่งและมีฝีมืออย่างมาก และพบว่าโซนนี้มีอาคารที่มีการต่อเติมของตัวอาคาร แต่การต่อเติมน่าจะมีข้อจำกัดของช่าง จึงไม่ได้ทำให้สูงขึ้นไปกว่านี้
โซนที่ 7 ถนนพุทธบูชา (แถบร้านสาระรส) ซอยเจ้าพระยาจักรี และแถบอาคารเทพรักษา
ตึกอุปถัมภ์ อาคารได้รับอิทธิพลถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบเครื่องคอนกรีต
ในบริเวณนี้พบว่าเป็นยุคที่มีการใช้บล็อก ในช่วงปี พ.ศ. 2510 การใช้องค์ประกอบ (Element) บนฝาซาดของตึก เป็นช่วงแรก ๆ ที่เริ่มมีระเบียงที่ยื่นออกมา และมักจะนิยมใช้เหล็กดัด และมีบล็อกที่คล้ายคลึงกับตึกบริเวณท่าเตียนที่รุงเทพ ฯ จะมีลวดลายที่มีความเป็นไทยแบบประยุกต์ นอกจากนี้ในช่วงนั้นได้มีการนำโค้งกลับมาใช้ ซึ่งเป็นอิทธิพลการก่อสร้างในยุคนั้น หรือเรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างไทยกับจีน
โซนที่ 8 ถนนบรมไตรโลกนารถ (แถบร้านมนูพานิช: ร้านโชคอำนวย) ถนนสุรสีห์ (แถบข้าวต้มแป๊ะเตียงเดิม) และซอยข้างโรงงิ้ว
ร้านชมบุญการค้า และ ร้านโชคอำนวย
ในโซนนี้พบว่าตึกจะมีกันสาดลักษณะเหมือนดูอิสระ (Independent) เป็นของใครของมัน ไม่ได้แชร์กัน และโซนนี้จะเน้นตัวกันสาด ก็เป็นลักษณะเด่นของตึกโซนนี้ และในโซนนี้จะมีตึกที่มีลักษณะการต่อเติมขึ้นไป มีความคลาสสิคมาก มีลวดลายเหล็กดัดและหน้าต่างบานไม้ที่แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายของผู้คนในยุคนั้น ลักษณะพิเศษของพื้นที่นี้คือสะท้อนว่าช่างเขียนแบบมีความรู้และทักษะในการออกแบบเป็นอย่างมาก เพราะรู้สัดส่วนวิธีการเน้นเส้น โดยเฉพาะตัวบานของบานเกร็ดยังเป็นยุคเก่าอยู่
โซนที่ 9 ซอยเจ้าพระยาจักรี (แถบคลินิกหมอฟัน) ถนนบรมไตรโลกนารถ (แถบร้านคุณโอ๋เวดดิ้ง) และซอยข้างศาลเจ้าแม่ทับทิม
แถบคลินิกหมอฟัน
บริเวณนี้จะเห็นตัวตึกอาคารที่ค่อนข้างใหม่ มีความหลากหลาย การปรับปรุงใหม่เกิดขึ้น เริ่มมีการนำเอาเสาคอรินเทียนและลวดลายมาประดับตกแต่ง ทำให้เห็นว่าเริ่มมีลักษณะที่แปบกแยกจากพื้นที่โซนก่อนหน้านี้ จะมีลักษณะเป็นแบบฝรั่งหรือยุโรปมากขึ้น
ในการสร้างตึกแถวสมัยก่อนนั้นจะมีโครงสร้างของชุมชนที่ชัดเจน มีโรงงิ้ว โรงหนังเพื่อเป็นพื้นที่สันทนาการร่วมกัน เนื่องจากผู้คนในสมัยก่อนไม่ได้มีทีวีดูกันทุกบ้าน “คนผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้นก็บอกว่าที่ตลาดใต้เป็นเหมือนสยามสแควร์ของเมืองพิษณุโลก ที่เป็นสถานที่ที่วัยรุ่นเขาจะมารวมตัวกัน มาดูหนัง มาเดท มาพบปะสังสรรค์ ถือว่าเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลกเลย ซึ่งทำให้ศักยภาพของพื้นที่มีประวัติศาสตร์ภาพจำที่ชัดเจน” อาจารย์ศุภกิจ ยิ้มสรวล กล่าว
จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมของตลาดใต้นั้น มีการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุค ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมในยุคนั้น ๆ ให้เห็นอยู่ หากเราจะนิยามจุดเด่นที่สำคัญของตึกในตลาดใต้ ก็เรียกได้ว่าย่านตลาดใต้เป็นย่านตึกหัวมุม เพราะที่นี่ตึกหัวมุมถือว่ามีลักษณะเฉพาะมาก แต่ตัวอาคารต่าง ๆ ก็มีบทบาทและโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
โครงการวิจัย “สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เมืองเชิงท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์” ภายใต้ชุดโครงการวิจัย “ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก”
โครงการวิจัย ประวัติศาสตร์สร้างย่านเพื่อการเรียนรู้ สำหรับเทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก “แกะรอยอาคารในย่านเก่า ตลาดใต้ พิษณุโลก”
บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ศุภกิจ ยิ้มสรวล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร