Beautiful Plants For Your Interior

แม่น้ำเพชร: พลวัตน้ำสู่ประวัติศาสตร์เมือง

ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เคยรับสั่งเพื่อเสวย “น้ำเพ็ชร” จากข้อความในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวว่า “เรื่องน้ำเพ็ชรนี้ เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเปนน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่า พระองค์เองเคยเสวยน้ำเพ็ชรเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่นไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเพ็ชรบุรี”

นี่จึงเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรที่เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้น ดี จืดและอร่อย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลัก และเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในห้าสายของประเทศเพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หนึ่งต้องตักที่แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณท่าไชยศิริที่อยู่ในเขตบ้านลาด ซึ่งบริเวณนั้นเป็นนิคมของพราหมณ์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ท่าน้ำนั้นเป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ที่เขาใช้ประกอบพิธีกรรมในพระราชพิธีก็จะตักที่นั่น

เมื่อสายน้ำเติบโตควบคู่กับประวัติศาสตร์เมือง

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของเมืองเพชรบุรีคือตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้า อยู่ในเส้นทางที่มีบุคคลสำคัญต้องเดินทางผ่านไปมา ปัจจัยถัดมาคือมีทรัพยากร ในเมืองเดียวมีทรัพยากร 3 - 4 อย่างที่จำเป็นสำหรับโลกโบราณ การมีทรัพยากรเป็นจำนวนมากก็ทำให้มีความร่ำรวยทางปัจจัย พอมีความร่ำรวยทางปัจจัยก็ไปร่ำรวยทางวัฒนธรรมตามมา เมื่อคนเรามีกินแล้วก็มีเรื่องของสุนทรียะตามมา

เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีพลวัตทางประวัติศาสตร์อันสำคัญ มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี  และมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทั้งทะเล ภูเขา เขื่อน ธรรมชาติ วัดวาอารามต่าง ๆ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เขื่อนแก่งกระจาน เขาพะเนินทุ่ง หาดชะอำ วัดมหาธาตุ วัดใหญ่สุวรรณาราม และวัดเกาะ

และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำที่อยู่ควบคู่กับประวัติศาสตร์ของเมืองเพชร ชีวิตของผู้คนจึงเชื่อมโยงกับสายน้ำในบริบทที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาความรุ่งเรืองของเมือง

แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำที่มีต้นน้ำและปลายน้ำอยู่ในจังหวัดเดียว คือจังหวัดเพชรบุรี ไหลมาจากป่าแก่งกระจานผ่านอำเภอท่ายางลงมา ผ่านบ้านลาด ผ่านเมือง ทีนี้แม่น้ำเพชรบุรีออกทะเล 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือตรงจากเมืองไปเลย และก็ไปออกทะเลที่บ้านแหลม ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งแยกตรงบางครกไปออกทางบางตะบูน ก็คือต้นน้ำกับปลายน้ำเกิดขึ้นและจบที่จังหวัดเดียว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีความเชี่ยวชาญและสนใจในประเด็น คติชน วรรณกรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ศิลปะ เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเมืองเพชรบุรีที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งจังหวัด หนึ่งแม่น้ำ

เมืองท่าแห่งหัวเมืองตะวันตก

ความชัดเจนของความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของเพชรบุรีมีพัฒนาการสืบเนื่องมาตลอด แต่ว่ามีความชัดเจนมากในสมัยอยุธยา เนื่องจากเพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็น “เมืองท่า” ที่สำคัญของหัวเมืองตะวันตก เป็นจุดเชื่อมต่อเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาจากบนบกสู่ทางน้ำ

ในช่วงในช่วงสมัยปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนิยมค้าขายกับตะวันตกมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับทางเปอร์เซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องไปทางฝั่งทะเลอันดามัน จึงเกิดรูปแบบการเดินทางที่เรียกว่า “การค้าข้ามสมุทร” ขึ้น เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายจากฝั่งอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ข้ามมาสู่อ่าวไทย มหาสมุทรแปซิฟิค โดยสินค้าและผู้คนจากตะวันตกมาขึ้นบกที่มะริด  แล้วเดินข้ามเขามาทางบ้านใจแผ่นดิน และล่องแม่น้ำเพชรบุรีเข้าสู่เมืองเพชรบุรี จากนั้นก็เข้าสู่สุวรรณภูมิหรืออยุธยาต่อไป ดังนั้นเพชรบุรีจึงทำหน้าที่เมืองท่าที่สำคัญมาก ๆ ในยุคนั้น

เรือโดยสารขนาดเล็กล่องมาจากกรุงศรีอยุธยา แล้วผ่านมาทางบางกอก ลัดเลาะมาตามลำน้ำสายต่าง ๆ ผ่านมาถึงท่าจีน แม่กลอง เข้าบางตะบูน สู่แม่น้ำเพชร แล้วผู้คนและสิ่งของก็มาขึ้นท่าที่เมืองเพชรบุรี การเดินทางต่อจากนี้จะไม่เดินทางด้วยเรือแล้ว จะใช้การเดินบก คือเดินจากทางเพชรบุรีไปทางชะอำ ไปทางปราณบุรี กุยบุรี แล้วข้ามไปสิงขร ตะนาวศรี แล้วลงทะเลอีกทีที่เมืองมะริด ดังนั้นเจ้าเมืองมะริดในช่วงปราสาททอง ถึงบ้านภูหลวงบางคนเป็นมุสลิม เพราะว่าต้องดูแลทางการค้าให้กับพระมหากษัติริย์ด้วย เพชรบุรีจึงรุ่งเรืองขึ้นมาในสมัยนั้น

ชาวเพชรบุรีได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพชรบุรีทั้งการอุปโภค บริโภค การเกษตร การนันทนาการ รวมถึงเป็นเส้นทางสัญจรหลัก บริเวณตรงข้ามวัดมหาธาตุ มีตลาดริมน้ำ มีเรือนานาชนิดนำผลผลิตทางการเกษตรขึ้นบกมาแลกเปลี่ยนและค้าขายกัน ทั้งข้าวสาร น้ำตาล และเกลือ ใกล้วัดมหาธาตุมีชุมชนบ้านหม้อซึ่งเป็นชุมชนที่ผลิตหม้อตาลเพื่อบรรจุน้ำตาลปึกก่อนนำไปค้าขายแหล่งต่าง ๆ

การค้าน้ำตาลมีสมัยตั้งแต่อยุธยา มาจนถึรัตนโกสินทร์เลย แม่น้ำเพชรบุรีก็เป็นลำน้ำสำคัญที่คนเพชรบุรีใช้เอาน้ำตาลออกไปขายยังแหล่งต่าง ๆ ในช่วงร้อยปีมานี้ยังมีเรื่องเล่าของการเอาน้ำตาลไปขายที่อยุธยา ที่ ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ปากน้ำโพ โดยการใช้เรือ

แม่น้ำเพชรบุรียังคงคลาคล่ำด้วยเรือที่สัญจรขนถ่ายสินค้าเพื่อไปขายยังเมืองต่าง ๆ ขณะเดียวก็ยังมีบุคคลสำคัญที่แวะเวียนไปมาอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ล่องเรือเข้ามาทางบางตะบูน แวะที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม แล้วล่องเรือเข้าแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นฝั่งที่วัดพลับพลาชัย อำเภอเมืองเพชรบุรี

แม่น้ำโบราณเป็นเส้นทางสำคัญเลย เพราะว่าหนึ่งในแง่การคมนาคมนำพาให้เกิดการเดินทาง สถานีของเมืองคือท่าน้ำวัดพลับพลาไชย สุนทรภู่เดินทางมาก็ต้องจอดเรือที่ท่าน้ำพลับพลาชัยแล้วต้องเดินเท้าต่อ ดังนั้นในแม่น้ำจึงคลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้า เรือผู้คนเดินทาง

ถึงอารามนามที่กุฎีทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ริมอารามข้ามน้ำทำตะพาน
นมัสการเดินมาในวารี
ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย
ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี
ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย
ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน
นรินทรท้าวพระยามาอาศัย
ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย
ให้มีชัยเหมือนเช่นนามอารามเมือง
ดูเรือแพแซ่ซ้องทั้งสองฟาก
บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง
ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไปฯ

ผลงาน “นิราศเมืองเพชร” ของสุนทรภู่ แสดงให้เห็นความช่างสังเกตของสุนทรภู่ที่มีต่อธรรมชาติ สะท้อนความทรงจำที่งดงามจากการมาเยือนเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นสถานที่คุ้นเคยของสุนทรภู่ และเต็มเปี่ยมด้วยอิสระแห่งกวีในการถ่ายทอดพลังทางวรรณศิลป์อันแจ่มใส และมีชีวิตวีวา

ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ปลายทางที่เมืองเพชรบุรีทำให้เกิดการเดินทางสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งการสร้างทางรถไฟ และการตัดถนน ส่งผลให้การเดินทางสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น นี่จึงทำให้แม่น้ำเพชรบุรีที่เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง

จากเส้นทางสัญจรทางน้ำอันคึกคัก สู่น้ำอุปโภคบริโภคผ่านท่อประปา

หลังจากตัดถนนเพชรเกษม ความเจริญของชุมชนต่าง ๆ ที่มีถนนเชื่อมร้อยไปหมด คนก็ไปใช้การคมนาคมทางบก แม่น้ำเพชรบุรีจึงไม่ได้มีความคึกคักในฐานะที่เป็นเส้นทางการคมนาคมเหมือนเดิม แต่ถามว่ายังมีการใช้ประโยชน์จาแม่น้ำเพชรบุรีหรือไม่ หากพิจารณาให้ดีน้ำที่เป็นอุปโภคบริโภคยังใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีอยู่ ประปาส่วนภูมิภาคของเพชรบุรีตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมืองเพชรบุรี คืออยู่เหนือเมืองขึ้นไปหน่อย ก็เอาน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมาทำประปา

ถึงแม้ว่าแม่น้ำเพชรบุรีจะไม่ได้เป็นเส้นทางสัญจรสายหลักเหมือนในอดีต หากแต่แม่น้ำเพชรบุรียังคงความสำคัญต่อผู้คนในการใช้เพื่ออุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และประมง ทุกคนยังใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเพียงแค่เปลี่ยนสถานะของน้ำเท่านั้น

ดังนั้น การจัดการทรัพยากรน้ำให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ น้ำเสียจากบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนเป็นย่านที่อยู่อาศัยและย่านการค้าขาย ย่อมจะมีน้ำทิ้งจากการอุปโภคและบริโภค เช่น น้ำจากการซักล้างและการทำครัว น้ำจากส้วมที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำลำคลอง น้ำทิ้งเช่นนี้จะทำให้เกิดน้ำเน่าน้ำเสียได้ น้ำเสียจากการเกษตรกรรมในการเพาะปลูกปัจจุบันนี้เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น ชะล้างสิ่งเหล่านี้ลงแม่น้ำลำคลอง เป็นเหตุให้กุ้ง ปลา หอย ปูและสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอันตรายถึงตาย หรืออาจจะสะสมอยู่ในตัวสัตว์เมื่อคนจับสัตว์น้ำเหล่านี้มาทำอาหารสารเคมีนั้นก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายของคนอีกทอดหนึ่ง

สายน้ำเพชรบุรีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำผูกพัน สัมพันธ์กับผู้คนทั้งหมด จะแบ่งแยกไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดกับคนพื้นที่หนึ่งจะเกิดผลกระทบกับคนอีกที่หนึ่ง แล้วจะย้อนกลับไปกระทบกับคนที่สร้างผลกระทบมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หอยแพงแน่เลย หากคนที่อยู่กลางน้ำทำน้ำเสียงลงไป เราก็จะไม่ได้กินหอยดี หรือว่าปลาปูตายหมด คนที่อยู่ท่าน้ำทางบ้านลาด แก่งกระจานใช้สารเคมีมากแล้วฝนตกลงไปแม่น้ำ สารพิษลงไปแม่น้ำ แน่นอนประปาสูบขึ้นมา แล้วมันก็แพร่กระจายไปสู่ทุกคนได้

ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย โดยเฉพาะความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำ แม่น้ำเพชรบุรี คือสายน้ำที่มีพลวัตควบคู่กับประวัติศาสตร์ น้ำยังคงมีความสำคัญต่อชีวิต แค่เปลี่ยนสถานะตามบริบทของกาลเวลาเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

นิพัทธ์ แย้มเดช และสมบัติ มั่งมีสุขศิริ, “อิสระแห่งกวี” ในนิราศภูเขาทอง และนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่, วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ีที่ 17 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563

ปรัชญา พัฒนผล, การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมแม่น้ำเพชรบุรี (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ตามรอย “น้ำเพ็ชร” น้ำเสวยของรัชกาลที่ 5 ฤๅต้องมาจากแม่น้ำเพชรบุรีเท่านั้น!?, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_19148