Beautiful Plants For Your Interior

ออกสำรวจกลุ่มป่าแก่งกระจาน ผืนป่าต้นน้ำเมืองเพชร กับหัวหน้าธรรมนูญ

ถามว่าน้ำมาจากที่ไหน คำตอบที่ได้อาจจะเป็นมาจากก๊อกน้ำที่ต่อสายตรงเข้าสู่บ้านเรือน จากเขื่อนที่กักเก็บน้ำไว้ปริมาณมาก หรือมาจากคลองส่งน้ำชลประทานเข้าสู่สวนไร่นา เมื่อมองย้อนไปถึงที่มาของแหล่งต้นน้ำ แท้จริงแล้วอาจจะเป็นตาน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลเอื่อย ๆ ออกมาจากผืนป่าบนภูเขา

พื้นที่ป่าธรรมชาติเป็นต้นทุนสำคัญที่จะผลิตน้ำ ยิ่งพื้นที่ป่าหนาแน่นมากเท่าไร ศักยภาพการให้น้ำต่อหน่วยพื้นที่ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

ป่าแก่งกระจาน พื้นที่ต้นน้ำของเมืองเพชร

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งทอดตัวเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา มีสภาพภูมิอากาศหลายลักษณะมาบรรจบกัน จึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ทั้งความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ (species diversity) และความหลากหลายของระบบนิเวศ (ecosystem diversity) ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตในน้ำ ป่าแก่งกระจานจึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมต่อการศึกษาวิจัยทางด้านธรรมชาติวิทยาที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

นี่จึงทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ 1 ใน 25 กลุ่มป่าของโลก ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และได้รับการประกาศจาก UNESCO รับรองให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็น “มรดกโลก”

“พูดถึงกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางของรอยต่อ ถ้าทางพืชก็คือเขตรอยต่อของพฤกษาภูมิศาสตร์ พันธุ์ไม้จากฝั่งพม่า ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ก็จะมาบรรจบที่จุดนี้พอดี ทำให้เกิดการซ้อนทับของเขตพันธุ์ไม้ นักพฤกษศาสตร์จะชอบที่นี่มากเพราะว่าโอกาสที่จะเจอพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสำรวจละเอียดก็ยิ่งเจอ โดยเฉพาะโซนที่ใกล้กับฝั่งพม่า” ธรรมนูญ เต็มไชย หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี กล่าว

เหตุผลหลักที่ทาง UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้กับผืนป่าแก่งกระจานก็คือ การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำภาชี ป่าผืนใหญ่แห่งนี้คงความอุดมสมบูรณ์ บนเนื้อที่กว่า 2.5 ล้านไร่หรือราว 4,089 ตารางกิโลเมตร

“ในส่วนของแม่น้ำเพชรบุรีก็เกิดจากป่าแก่งกระจานเป็นหลัก ก็คือตัวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานติดไปทางชายแดนพม่าเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแนวสันปันน้ำที่แบ่งเขตระหว่างแก่งกระจานกับพม่า ตัวแม่น้ำเพชรบุรีเกิดตั้งแต่ชายแดนตรงนั้น และประมาณกึ่งกลางของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เป็นลุ่มที่รับน้ำลงมา สภาพป่าที่ดิบชื้น ดิบเขา และดิบแล้งก็จะไล่ระดับลง กระทั่งเป็นลุ่มขนาดใหญ่เกิดเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีที่ให้น้ำไหลลงไปที่เขื่อนแก่งกระจานและให้น้ำกับคนในจังหวัดเพชรบุรี และบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย” ธรรมนูญ กล่าว

สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยนานาพรรณไม้ มีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ และพื้นที่มีความลาดชัน ส่งผลให้ให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี

ลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีเกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กินพื้นที่ 2,254.48 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 74.32 ของพื้นที่อุทยานฯ ประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำย่อยห้วยแม่ประจัน ลุ่มน้ำแม่น้ำเพชรบุรีตอนบน นี่เองจึงทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีเอกลักษณ์สำคัญเป็น 1 แม่น้ำ 1 จังหวัด มีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอยู่ในจังหวัดเดียวกัน

สมดุลระบบนิเวศ สมดุลพื้นที่ต้นน้ำ

ธรรมนูญ เต็มชัย หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและเพาะพันธุ์พืช หัวหน้าธรรมนูญทำงานออกสำรวจ วิจัย และรวบรวมข้อมูล เพื่อหาสมดุลของระบบนิเวศ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติด้วยนวัตกรรมใหม่ผ่านการวิจัย

“บทบาทของผมจะรับผิดชอบงานวิจัยในอุทยานแห่งชาติ จะแบ่งเป็นส่วนรับผิดชอบ 22 แห่งในภาคตะวันออก ภาคตะวันตก  จากจังหวัดกาญจนบุรีลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบงานวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติ” ธรรมนูญ กล่าว

การศึกษาปริมาณน้ำท่าในระบบนิเวศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอีกหนึ่งบทบาทของเหล่านักวิชาการป่าไม้ จากศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ ที่มีกันอยู่กว่า 10 คน เป็นทีมเล็ก ๆ ที่แบ่งหน้าที่กันทำงาน บนผืนป่าใหญ่ที่ชื่อ “แก่งกระจาน” หัวหน้าธรรมนูญให้คำจำกัดความของคนทำงานเมื่อต้องเข้าป่าลงพื้นที่ ๆ นานหลายสัปดาห์ว่าต้องรักความสันโดษและเข้าใจธรรมชาติของงาน

“ผมศึกษาเรื่องของปริมาณน้ำท่าก็ใช้โมเดล ใช้แบบจำลองที่เขาทำมาบนพื้นฐานของงานวิจัยอีกทีหนึ่ง อย่างโมเดลที่เราใช้ก็มาจากการเก็บข้อมูลจริงและมาสร้างเป็นโมเดล เรื่องการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินก็จะมีโมเดลออกมา มีแบบจำลองออกมา เราเอาตัวนั้นมาใช้ เพื่อเห็นความภาพกว้างและชี้เป้าได้ว่าเราควรจะทำอะไรตรงไหน” ธรรมนูญกล่าวด้วยความมุ่งมั่น พร้อมกับชี้ไปยังแผนที่ปริมาณน้ำท่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จากข้อมูลปริมาณน้ำจากระบบนิเวศ พบว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีศักยภาพการให้น้ำต่อหน่วยพื้นที่ (Estimated water yield per pixel) ได้มากถึง 2,695.91 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อปี โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นพื้นที่ป่าตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ติดกับแนวเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากกว่าบริเวณอื่น ๆ และระบบนิเวศที่เป็นป่าดิบชิ้น

“ในเรื่องของการจัดการลุ่มน้ำ เรื่องของการให้น้ำท่าระบบนิเวศ เวลาฝนตกน้ำส่วนหนึ่งจะซึมลงดิน ส่วนหนึ่งจะไหลไปตามหน้าดิน ตัวต้นไม้ช่วยกักไม่ให้น้ำไหลบ่าไปตามหน้าดิน การที่กักคือเป็นการชะลอน้ำ สร้างโอกาสให้น้ำซึมลงดินให้มากที่สุด และตัวระบบรากคือตัวที่จะทำให้น้ำลงไปในดินลึกที่สุด เก็บน้ำในดินไว้ให้มากที่สุด น้ำจะไปอยู่ตามระบบรากที่ชอนไชลงไปในดิน เกิดความพรุนของดิน แต่ถ้าเราไม่มีต้นไม้ ฝนตกน้ำซึมลงดินนิดหน่อยที่เหลือไหล่บ่ากลายเป็นน้ำป่า” ธรรมนูญกล่าว

เก็บน้ำจากฟ้า โอบอุ้มลงสู่ดิน

“เราต้องเข้าใจว่าต้นไม้ ป่าไม้ไม่เหมือนกับพืชเกษตร พืชเกษตร 1-2 เดือนก็เห็นผลเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่พืชป่าไม้กว่าจะโตขึ้นมาบางที 5 ปี 10 ปี ยังไม่เห็นเป็นต้นไม้ที่เป็นต้นใหญ่เลย การศึกษาผลกระทบทางนิเวศเลยต้องใช้เวลามากกว่าการศึกษาพืชเกษตร เราตัดต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น เราปลูกทดแทนสักหมื่นต้น แสนต้นคุณค่าที่ได้ไม่เท่ากับ 1 ต้นที่ตัด กว่ารากไม้ปลูกใหม่จะลงดินไปได้ ยังไม่สู้ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นที่กักเก็บน้ำในระบบนิเวศได้มากกว่า” ธรรมนูญกล่าว

กลไกลการซับน้ำของป่าเป็นกลไกสำคัญช่วยไม่ให้น้ำที่อยู่ในป่าไหลบ่าลงไปท่วมพื้นที่ราบลุ่มหรือพื้นที่เมือง ป่าจึงทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ดูดซับปริมาณน้ำฝนจำนวนมากไว้ หากไม่มีต้นไม้ทำหน้าที่ดูดซับน้ำไว้ น้ำฝนทั้งหมดที่ตกลงมาก็จะกลายเป็นน้ำป่าไหลหลาก มวลน้ำมหาศาลก็จะไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และเมืองสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันหากน้ำไม่ได้ถูกกักเก็บไว้ก็จะแห้งเหือด สัตว์ป่าไม่มีแหล่งน้ำกิน พืชพรรณต่าง ๆ สูญพันธุ์ และตัวมนุษย์ก็จะขาดน้ำตามไปด้วย

การกักเก็บน้ำด้วยป่าไม้ จึงเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ช่วยรักษาสมดุลนิเวศให้คงอยู่ แม้หน่วยวิจัยจะขับเคลื่อนด้วยคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็สร้างผลกระทบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ

“ในส่วนของการจัดการต้นน้ำสำคัญกว่า คือเราต้องรู้เรื่องของไทม์ไลน์ของน้ำเราจะบริหารจัดการยังไงไม่ให้เกิดไทม์ไลน์ที่ผิดธรรมชาติ และงานนโยบายที่ดีจะต้องมาจากข้อมูลวิจัยก่อน ต้องมีทุกอย่างให้เกิดข้อมูลมาก่อน เอาข้อเท็จจริงมาใช้ในการตัดสินใจว่านโยบายควรไปอย่างไร แล้วค่อยนำไปสู่การจัดการ” ธรรมนูญกล่าว

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ ธรรมนูญ เต็มไชย ศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและเพาะพันธุ์พืช

ธรรมนูญ เต็มไชย, ทรงธรรม สุขสว่าง และ พันธุ์ทิพา ใจแก้ว, สารสนเทศภูมิศาสตร์ กลุ่มป่าแก่งกระจาน (2560)

ธรรมนูญ เต็มไชย, การศึกษาปริมาณน้ำท่าในระบบนิเวศ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, (2561)

ภาพ และวิดีโอจากหัวหน้าธรรมนูญ เต็มไชย อดีต ผู้อยู่อาศัยในเรือนแพ