Beautiful Plants For Your Interior

“แสงแห่งรัก” ความโรแมนติกที่สะท้อนคุณภาพน้ำและเหล่าแมลง

เราได้เห็นหิ่งห้อยเปล่งแสงในช่วงค่ำคืน ก็มักสะท้อนถึงสิ่งที่สวยงาม และความน่ามหัศจรรย์ในทุ่งริมน้ำยามมืดมิด แต่ในขณะช่วงวัยเด็กของเราที่อาจไม่ประสาโลกนี้นัก ก็มักเกิดความคิดที่ฟุ้งซ่าน บวกกับความเชื่อโบราณที่โดนคนเฒ่าคนแก่พร่ำหลอกไม่ให้ออกซนยามตะวันตกดิน  ว่าแสงสีเหลือง ๆ แดง ๆ ที่ลอยอยู่ริมป่า คือ ดวงวิญญาณ หากแสงนี้บินเข้ามาในบ้านตอนดึก ๆ หมายความว่า วิญญาณได้กลับมาหาคนในครอบครัว  แสงวูบวาบเหล่านี้ก็สร้างความกลัวเล็ก ๆ ให้กับเด็กน้อยที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ให้เตร็ดเตร่ออกจากบ้านในช่วงค่ำมืด

เมื่อเราเติบโตขึ้น สิ่งที่น่ากลัวอาจจะไม่ใช่แสงหิ่งห้อย แต่กลับเป็น “ไม่มีแสงหิ่งห้อย” แล้วต่างหาก   แสงระยิบระยับในยามค่ำคืนกำลังจะหายไป เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศของป่าลำพูที่ถูกทำลาย และปัญหาคุณภาพน้ำก็ล้วนส่งผลให้หิ่งห้อยไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ และแสงนี้กำลังริบหรี่ลงในที่สุด

“ท่ามกลางความมืดที่เรามองไม่เห็นอะไรเลย แต่เราเห็นแสงเราก็จะรู้สึกว่านี้คือความสวยงาม หิ่งห้อยแต่ละชนิดจะมีการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน จังหวะที่แตกต่างกัน ก็เสมือนภาษารักที่แตกต่างกัน”

อาจารย์ก้อย หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ท่านเจริญ เป็นหญิงสาวที่ตามหาแสงแห่งความรักมาตลอดชีวิต จากการที่เติบโตในคุ้งบางกระเจ้า ทำให้เธอหลงใหลในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยเฉพาะแมลง ที่เป็นสิ่งชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ และอาจารย์ก้อยยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของพื้นที่ในคุ้งบางเจ้า ที่มีความเขียวขจีของป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราจึงสามารถพบเห็นหิ่งห้อยที่น่าสนใจได้หลายชนิด ได้แก่ หิ่งห้อยน้ำกร่อย สกุล Pteroptyx ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้มากในพื้นที่บางกะเจ้านี้ และยังมีหิ่งห้อยบก Pyrocoelia praetexta กับหิ่งห้อยสกุล Rhagophthalmus รวมถึงหิ่งห้อยน้ำจืด ชนิด Luciola 0aquatilis Thancharoen ซึ่งเป็นหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลกด้วย

หิ่งห้อยจะมีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว เกือบทุกปล้องแสงของหิ่งห้อยเกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะทำแสงกับออกซิเจน มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate, ATP) เป็นตัวที่ให้พลังงานทำให้เกิดแสงระยิบระยับยามค่ำคืน หิ่งห้อยที่ชอบบินว่อนตามพุ่มไม้จะเป็นหิ่งห้อยตัวผู้ ส่วนตัวเมียจะชอบเกาะนิ่งอยู่ตามกิ่งไม้เพื่อรอดูว่าตัวผู้ตัวไหนที่ทำแสงได้ดีกว่าตัวอื่น

หอยฝาเดียวตัวเล็ก ๆ เรียกว่าเป็นเมนูสุดโปรดของเหล่าหิ่งห้อย ทั้งหอยน้ำจืด หอยน้ำกร่อย ที่มักเกาะอยู่ตามรากต้นไม้ต่าง ๆ ที่ใกล้หนองน้ำ หรือรากต้นลำพู ที่เป็นต้นไม้ยอดฮิตของแมลงหิ่งห้อย อีกทั้งรากต้นไม้เหล่านี้ยังเป็นเหมือนที่ฟักตัวอ่อนของหิ่งห้อยด้วย และพวกเขามักจะออกหากินในเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน

“หิ่งห้อยใช้แสงเป็นภาษารักในการสื่อสารหาคู่ผสมพันธุ์ เป็นสัญญานสื่อสารหลักเลยเพื่อว่าเขาจะหาคู่ให้ตัวผู้กับตัวเมียพบเจอกัน สืบพันธุ์กัน แต่ในขณะเดียวกัน สัญญานที่พวกเราเรียกว่า แสง สามารถเป็นสัญญานที่สื่อถึงอันตรายได้ด้วย เขาบอกว่าถ้าเราอยากป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายให้เราก่อไฟ ไฟหรือแสงเป็นสัญญานที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นหิ่งห้อยมีแสง หิ่งห้อยคือตัวอันตราย อย่าเข้ามาใกล้ เป็นการเตือนข่มขวัญ ในอวัยวะเรืองแสงของหิ่งห้อยจะมีสารเคมีที่เป็นพิษอยู่ ถ้าผู้ล่ากินเข้าไป เขาอาจจะอาเจียน บางชนิดที่มีพิษเยอะสามารถทำให้ตายได้” รศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ กล่าว ด้วยท่าทียิ้มแย้มให้ความรู้ และย้ำเตือนถึงความอันตรายของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์

พื้นที่ที่มีหิ่งห้อยจำนวนมากในบางกระเจ้ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้ ต้นลำพูซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของหิ่งห้อยค่อย ๆ หายไป เกิดการรุกล้ำธรรมชาติจนไร้การควบคุม “อยากสะท้อนภาพรวมของบางกระเจ้า บางกระเจ้าถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมโดยรวมควรจะถูกรักษา แต่ที่เราเห็นก็คือ มีการจัดสรรพื้นที่ แบ่งย่อยเป็นแปลงเล็ก ๆ สิ่งนี้ทำลายบางกระเจ้า แล้วใครควรออกมาดูแล ใครควรจะรักษาพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้อย่างจริงจัง” สุกิจ พลับจ่าง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ลำพูบางกระสอบ” เป็นกลุ่มที่ยังคงสำรวจจำนวนของหิ่งห้อย เพื่อมองการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในคุ้งบางกระเจ้าอย่างต่อเนื่อง

หิ่งห้อยได้ชื่อว่าเป็นแมลงที่ให้ความสวยงามยามราตรี ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเห็นว่า หิ่งห้อยมักจะเกาะอยู่บนต้นลำพู หรือต้นโกงกาง ตามแหล่งน้ำที่สะอาด ในช่วงวัยที่เป็นหนอน ทำให้หิ่งห้อยเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

“การมีหรือไม่มีหิ่งห้อยสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ของบริเวณนั้นได้อย่างชัดเจน รวมถึงพวกสารเคมี อาจจะมีมากจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ อารมณ์แบบเตือนตักเตือนเราว่า มีสิ่งชีวิตหลายชนิดที่ค่อย ๆ หนีหายไปจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้” รศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ กล่าว ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่จริงจัง

หิ่งห้อย คือสินทรัพย์ธรรมชาติที่มีค่า การที่หิ่งห้อยมีจำนวนมากขึ้นและกลับสู่สวนป่าลำพู เป็นการสร้างสินทรัพย์ที่ต้องใช้ระยะเวลา นับเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศที่ดี ที่ใช้บ่งบอกได้ว่าพื้นที่ใดยังมีระบบนิเวศที่ดีอยู่ ซึ่งถ้าหิ่งห้อยอยู่ได้ คนก็ยิ่งปลอดภัยจากมลพิษ และนอกจากนั้นสามารถพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้เชิงสร้างสรรค์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พาผู้คนมาร่วมสำรวจธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสำนึกร่วมกัน 

“มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หมดหวัง ยังรอวันที่เราจะมีหิ่งห้อยมากมายต่อไปเหมือนเดิม แสงความรักจากหิ่งห้อยอาจน้อยลง แต่นี้อาจทำให้แสงความหวังของชุมชนลุกโชนขึ้นกว่าเดิม เพราะเราล้วนอยู่ในบ้านเดียวกัน บ้านหลังใหญ่ที่ทุกชีวิตควรได้อาศัยอย่างเท่าเทียม” รศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ กล่าว ออกมาอย่างมีความหวัง

อ้างอิงข้อมูล

โครงการประเมินความแตกต่างด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมของประชากรหิ่งห้อย Sclerotia aquatillis บริเวณภาคกลางของประเทศไทย
และบทสัมภาษณ์ รศ. ดร.อัญชนา ท่านเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์