Beautiful Plants For Your Interior

เรียนรู้อัมพวาที่เปลี่ยนไป ผ่านสายใยของ “รองยะ”

          หากกล่าวถึงชื่อ “อัมพวา” ผู้คนอาจจะคุ้นเคยมากกว่าสมุทรสงครามเสียอีก และนึกภาพกิจกรรมตลาดทางน้ำที่คึกคัก สวนผลไม้นานาชนิด อาหารทะเลรสเยี่ยม ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ อาคารบ้านสองฝั่งริมน้ำที่เติบโตและปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมของคลอง ด้วยปัจจัยที่มากมายเหล่านี้ทำให้อัมพวาเป็นพื้นที่มีความท้าทายในแง่บริหารจัดการทั้งในมิติเชิงการท่องเที่ยว การใช้สอยทรัพยากรต้นทุน และการดูแลจิตใจของผู้คนที่เติบโตมาในพื้นที่อันเก่าแก่แห่งนี้

          “อัมพวายังเป็นวิถีชุมชน วิถีชนบท และการทำเกษตรกรรม ซึ่งการประกอบอาชีพต่าง ๆ ก็ดำรงอยู่บนวิถีของสายน้ำถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นกันมา แม้ถึงตอนนี้คนจะพายเรือออกจากบ้านก็ยังต้องดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าคำนวณเวลาไม่ดีกลับบ้านไม่ได้ ผู้คนที่นี่ต้องปรับตัวไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่บนการเอาชนะธรรมชาติ”

          กฤตย มีทวี รองนายกเทศมนตรี ปัจจุบันมีตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา หรือที่ทุกคนในอัมพวาเรียกกันติดปากว่า “รองยะ” ก่อนที่จะก้าวเข้ามารับตำแหน่งบริหารในพื้นที่ได้ รองยะมีความคุ้นเคยและเข้าใจความท้าทายของพื้นที่และเป็นหนึ่งแรงสำคัญของโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการ แม้จะไม่ได้เป็นคนอัมพวาโดยกำเนิด แต่การได้คลุกวงในสภาพแวดล้อมในทุกมิติของอัมพวามาอย่างยาวนาน ทำให้รองยะได้รับความไว้วางใจของชาวคลอง

          “ผมมาด้วยเหตุผลที่จะทำงานให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้รับมอบภารกิจให้มาเปิดโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตั้งแต่ปี 2551 ฉะนั้นความทรงจำแรกของผม คือเห็นวิถีชุมชนริมน้ำ เพราะว่าพื้นที่ของโครงการก็ติดคลองอัมพวา ติดถนน และมีพื้นที่สวนด้วย ระยะแรกแรกของโครงการ คือ ดูแลลูกบ้านที่พักอาศัยเช่าบ้านอยู่กับโครงการ และต้องส่งเสริมเรื่องของอาชีพการค้าขายตลาดน้ำ”

          คลองอัมพวามีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเป็นคลองธรรมชาติที่ตัดเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลองทั้งสองด้าน ทั้งริมฝั่งคลองมีวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดอัมพวันเจติยาราม  และยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำหลักของชุมชนคลองอัมพวาซึ่งในอดีตเป็นศูนย์ชุมชนค้าขายที่คับคั่งอย่างมาก

          การตั้งถิ่นฐานของผู้คนส่วนใหญ่อยู่ตามเส้นทางคมนาคมทางน้ำ (Riverine Settlement) ซึ่งเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบเดิมของชุมชนชาวสวน แม้ปัจจุบันจะมีความสะดวกของถนนต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่มากมาย แต่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนน้ำไว้อย่างครบถ้วน มีบ้านเรือนกระจุกตัวอยู่ทั้งสองฝั่งคลองอัมพวา บริเวณที่หนาแน่นที่สุดคือ เขตพาณิชยกรรม และศูนย์กลางเมือง

          “เมื่อผมทำงานก็รู้สึกผูกพัน เฉพาะตัวโครงการเองมีโอกาสได้ทำงานมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันที่ยังคงทำงานอยู่ก็อาจจะเป็นอีกบทบาทหนึ่ง ไม่ใช่บทบาทของมูลนิธิชัยพัฒนาแล้ว แต่เข้ามาทำงานในส่วนของการบริหารท้องถิ่น ที่เราอยากนำประสบการณ์ที่เราทำงานพัฒนาชุมชนมาช่วยชุมชนอัมพวา ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่เรามี ไม่อยากให้สูญเสียไป การที่เราจะได้มาเรียนรู้งานภาคการเมือง ก็มีความรู้สึกท้าทาย และทำให้เราได้อยู่กับประชาชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะนักการเมืองจะต้องรู้จักทุกบ้าน เข้าใจทุก ๆ ปัญหาก็เป็นอีกประสบการณ์ที่ดี”

เมื่อถนนล่องง่ายกว่าคลอง

          การพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบก และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเจริญครั้งใหญ่ จากเดิมที่ศูนย์กลางความเจริญถูกกำหนดโดยโครงข่ายลำน้ำ กลายเป็นศูนย์กลางโดยโครงข่ายถนน การพัฒนาโครงข่ายถนนในจังหวัดสมุทรสงครามโดยไม่ได้คำนึงถึงศูนย์กลางความเจริญดั้งเดิม ทำให้ความเจริญย้ายออกไปสู่พื้นที่ซึ่งมีเครือข่ายคมนาคมทางบกที่สมบูรณ์กว่า คือเมืองแม่กลอง กิจกรรมที่เคยคึกคักกลายเป็นเงียบเหงา ผู้คนเริ่มย้ายอออกจากพื้นที่ เหลือไว้พียงอาคารร้านค้าที่สามารถดำเนินการค้าขายต่อไปได้เพียงไม่กี่แห่ง และระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนรูปแบบเป็นการพึ่งพาตนเองภายในชุมชน

          “เป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะว่ายุคสมัยของการพัฒนาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะให้ความสำคัญกับถนนหนทาง แล้วมองว่านั่นคือวัตถุแห่งความเจริญ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ทำให้เกิดความสะดวกต่าง ๆ แต่ว่าการให้ความสำคัญนั้นก็ไม่ควรละเลยสิ่งดีงามที่เคยมีอยู่กับสายน้ำ เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับความสะดวกสบาย เขาจะเห็นคุณค่าของสายน้ำลดลง ไหม เมื่อเขาไม่ได้ดูแลสายน้ำ ภัยต่าง ๆ ที่มาทางน้ำก็อาจย้อนกลับมา ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกัน และให้ความรู้อย่างจริงจัง วันนี้ภาครัฐเริ่มมองเห็นความสำคัญในเรื่องของการที่จะต้องอยู่กับน้ำ ทั้งความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อม”

          จากการเดินทางอันยาวนานของอัมพวา ที่เริ่มจากชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งเน้นการหาหลักแหล่งทำมาหากินและประกอบอาชีพ มีที่ตั้งในพื้นที่อุดมสมบูรณ์บริเวณแม่น้ำ โดยวางอาคารหันเข้าเส้นทางน้ำ ด้านหลังทำสวน ต่อมาพัฒนาเป็นศูนย์การค้าทางน้ำ จึงเกิดเรือนแถวค้าขายตลอดริมคลอง และเรือนไทยโบราณยกสูงพ้นน้ำ ต่อมาการคมนาคมหลักเปลี่ยนจากน้ำมาเป็นถนน จึงเกิดการตั้งถิ่นฐานริมถนนแทน ย่านค้าริมน้ำจึงลดบทบาทลง แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนคลองอัมพวายังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม และยังคงมีสภาพแวดล้อมที่เป็นสวนผลไม้เฉพาะตัวของอัมพวาด้วย

วิถีชาวสวนที่สั่นคลอนด้วยปัญหาน้ำเค็ม

          แม้ในเขตเทศบาลของอัมพวาจะมีเรื่องการค้าขายและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นริมถนนทางบก แต่ในภาพรวมของอัมพวายังเป็นวิถีของเกษตรกรรม มีร่องสวน โดยเฉพาะสวนมะพร้าว และสวนลิ้นจี่ ที่ต้องอาศัยการผันน้ำจากลำประโดงเข้าไปยังร่องสวน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ความเค็มของน้ำที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำสวน

          “หากย้อนไปสัก 50 ปี เราไม่ได้พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเข้มข้นขนาดนี้ เพราะไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบ พอวันนี้มีการพูดถึงเรื่องของน้ำเค็มรุกคืบ สืบเนื่องมาจากปัญหาแล้ง น้ำจืดลงมาน้อย​ น้ำเค็มดันเข้ามา แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ผมคงมองเป็นเรื่องของความหลากหลาย​ ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติน้ำขึ้น​น้ำลง​ ดังนั้นคงเป็นเรื่องของการปรับตัวที่ชาวสวนจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ​ คนเหล่านี้ไม่คิดจะฝืนธรรมชาติ​ คนอัมพวาน่าจะมีบุคลิกที่มีความยืดหยุ่น”

          “เจ้าของที่มือใหม่ ๆ ยังไม่เห็นความสำคัญของลำประโดง จริงๆ เราต้องดูแลไม่ต่างจากแม่น้ำ ต้องขุดลอกให้น้ำไหลผ่านสะดวก แต่จะรอคอยให้รัฐเอางบประมาณลงมาช่วยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ผมว่าถ้าเราทิ้งปัญหานี้ต่อไปในอีก 20 – 30 ปี หากไม่มีลำประโดงแล้ว จะเกิดปัญหาขึ้นในพื้นที่อย่างแน่นอน”

          ลำประโดงถือเป็นเส้นเลือดฝอยของชีวิตชาวสวนอัมพวา เป็นจุดเชื่อมโยงพื้นที่ทางเกษตรกรรมเข้ากับแม่น้ำ ทุกวันนี้ชาวอัมพวาจึงให้ความสำคัญกับลำประโดงมากขึ้น  แต่ปัญหาคือลำประโดงจำนวนมากอยู่ในพื้นที่เอกชน หากลูกหลานไม่ได้ทำเกษตรก็มักปล่อยให้อุดตัน

          “สำหรับผมเอง เมื่ออยู่ในบทบาทตรงนี้ เราจะต้องทำงานชุมชน​และประสานความร่วมมือ​ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรับฟังทุกเสียงสะท้อน​ เศรษฐกิจในพื้นที่จะไปได้ ลูกหลานเด็กรุ่นใหม่ของเข้าใจและดูแล คู​ คลอง​ และร่องน้ำต่าง ๆ ผมว่าอัมพวามีระบบนิเวศชุมชนที่คนรุ่นก่อน ๆ สร้างไว้ดี แต่เราจะยกระดับให้อัมพวาเป็นบ้านที่ยั่งยืนต่อไปอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งท้าทายมากสำหรับพวกเรา”

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ กฤตยะ มีทวี รองนายกเทศบาลตำบลอัมพวา