Beautiful Plants For Your Interior

วิจัยสายน้ำไปกับ “กึกก้อง” ลูกหลานแม่กลองผู้อยากอยู่ร่วมกับน้ำอย่างมีความสุข

          ‘เมืองแม่กลอง’
          ‘เมืองสามน้ำ’
          ‘เวนิสตะวันออกแห่งที่ 3’

          นี่คือคำเรียกอันคุ้นหูของจังหวัด ‘สมุทรสงคราม’ จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคกลางตอนล่าง ดินแดนที่ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำแม่กลองและติดกับชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย เมืองแม่กลองมีแม่น้ำลำคลองที่แตกกิ่งก้านสาขามากมาย โดยเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายทั้งหมด 356 คลอง ด้วยเหตุนี้วิถีชีวิตของผู้คนในแม่กลองจึงผูกพันกับสายน้ำ ไม่ใช่เพียงใช้สัญจร แต่สายน้ำเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดี ที่ทำให้พืชผลและข้าวปลาอาหารเจริญงอกงาม เรียกได้ว่าแม่น้ำลำคลองเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเมืองแม่กลองแห่งนี้

          ทว่าเมื่อความเจริญและการคมนาคมเข้ามามีบทบาท ลำคลองเล็ก ๆ หลายสายก็ถูกหลงลืม กึกก้อง เสือดี ชายหนุ่มที่เกิดและเติบโตในเมืองแม่กลอง ผู้จบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่คลั่งไคล้ศึกษาระบบนิเวศน้ำ และยังเป็นหนึ่งในนักวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฐานนิเวศวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาผนวกกับพละกำลังจากสองมือของตัวเอง จับไม้พายลงสำรวจแม่น้ำลำคลองในบ้านเกิด เพื่อพลิกฟื้นแม่น้ำลำคลองที่เคยถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้รับการดูแลให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และพยายามต่อยอดทรัพยากรที่มีอยู่สู่อนาคตที่ยั่งยืน

          เพราะแม่น้ำลำคลองกับคนแม่กลองแยกกันไม่ขาดฉันใด ลมหายใจและคุณภาพชีวิตของคนแม่กลองก็ขึ้นอยู่กับสายน้ำฉันนั้น

ใคร ๆ ก็เรียกผมว่าเด็กแม่กลอง

          “แม่กลองในยุคผมเป็นชื่อเล่นของเมืองสมุทรสงคราม ถ้าใครไม่รู้จักว่าสมุทรสงครามคือแม่กลอง ก็จะมาสมุทรสงครามไม่ถูก เพราะว่าสายใต้ไม่มีรถคันไหนเขียนว่าไปกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม มีแต่เขียนไปแม่กลอง”

          กึกก้องเล่าความหมายของคำว่าแม่กลองให้เข้าใจว่า เป็นคำที่มีพลวัตสูง เพราะคนในแต่ละยุคสมัยอาจใช้คำว่าแม่กลองกล่าวถึงพื้นที่ที่ต่างกัน เช่น หากแบ่งตามเขตการปกครองสมัยก่อน อำเภอบางคนทีอาจจะไม่ได้ถูกเรียกว่าแม่กลอง เพราะขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี ทว่าสำหรับคนรุ่นกึกก้อง คำว่าแม่กลองคือจังหวัดสมุทรสงคราม

          “คนบางคนทีรุ่นป้า ๆ ยาย ๆ อาจจะไม่ได้บอกว่าเขาเป็นคนแม่กลอง เพราะในอดีตบางคนทีขึ้นอยู่กับราชบุรีมากกว่า ซึ่งแต่ละยุคสมัย เขาจะเข้าใจคำนี้ต่างกันครับ”

          ไม่ว่าคนในพื้นที่จะเข้าใจคำว่าแม่กลองเหมือนกันหรือไม่ ทว่าทุกคนที่เกิดในจังหวัดสมุทรสงครามต้องเคยเห็นแม่น้ำ ถือเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริง เพราะแม้แต่กึกก้องที่เกิดและเติบโตในอำเภอเมือง และบ้านไม่ได้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ทว่าชีวิตวัยเด็กของเขาผ่านประสบการณ์เที่ยวเล่นกับสายน้ำมาอย่างโชกโชน

          “ถ้าอยู่ในตลาด ผมว่าเด็กเกือบทุกคนจะได้นั่งเรือข้ามฟาก นั่งข้ามไปข้ามมาเป็นปกติ เราอยู่สัมพันธ์กับคลองกับแม่น้ำ เราเห็นจนเป็นเรื่องธรรมดา บางครั้งเราก็ไปตกปลากับเพื่อนริมแม่น้ำหน้าวัด หรือกระโดดเล่นน้ำก็มี สิ่งเหล่านี้เป็นปกติของคนรุ่นผม” กึกก้องเล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่สัมพันธ์กับน้ำด้วยรอยยิ้มและสายตาที่หวนรำลึก

          สมุทรสงครามเป็นเมืองเล็กที่มีเขตการปกครองเพียง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จึงไม่แปลกใจที่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนในโรงเรียนจะกระจายตัวอยู่ได้ทุกพื้นที่ บ้างก็อยู่ริมแม่น้ำ บ้างก็อยู่ในสวนคูคลอง

          “เพราะเมืองมันเล็กมาก เดินไปไม่กี่ร้อยเมตรก็เจอคลองแล้ว วัดทุกวัดแทบจะติดคลองติดแม่น้ำกันหมดเด็กแม่กลองกับคลองและน้ำจึงใกล้กันมาก”

สิบปากว่า ไม่เท่าลงมือพาย

          เมื่อครั้งเรียนระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กึกก้องได้นำทฤษฎีมาใช้กับชุมชนตัวเอง โดยศึกษาว่าผู้คนในพื้นที่ปรับตัวอย่างไรกับธรรมชาติและระบบนิเวศน้ำที่เปลี่ยนไป ซึ่งก่อนหน้านี้สิ่งที่จุดประกายความอยากรู้อยากศึกษาของเขาคือหนังสือ ‘คนแม่กลอง’ ของสุรจิต ชิรเวทย์หรือที่คนแม่กลองเรียกว่า ‘อาเจี๊ยว’ หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับน้ำ ลม ดิน และภูมิปัญญาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามไว้ กึกก้องจึงเริ่มพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือเป็นเรื่องจริงหรือไม่

          “โตขึ้นมาเรามีแรง เราก็พยายามศึกษาหาความรู้เอง ตอนนี้อาเจี๊ยวก็ไม่อยู่แล้ว เขาเหมือนเป็นคนจุดประกาย จุดไฟให้เรา แกพูดอะไรมาเมื่อก่อนเราก็จำ ฟังเอาไว้ พอเรามีพลังมากขึ้น เราก็เริ่มทดสอบว่าสิ่งที่แกพูดมันจริงไหม โดยเริ่มหากิจกรรม ลงไปทำงานวิจัย พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ไปเรื่อย ๆ คือสถาปัตย์พื้นถิ่น มันต้องสนใจเรื่องอื่น ๆ นอกจากตัวสถาปัตย์ด้วยครับ ต้องสนใจเรื่องระบบนิเวศ สนใจเรื่องคนที่อาศัยระบบนิเวศในการดำรงชีวิต”

          เครื่องมือหนึ่งที่กึกก้องใช้เพื่อเก็บข้อมูล คือการพายเรือไปตามแม่น้ำ ลำคลอง แพรก และลำกระโดงต่าง ๆ ที่เรือเครื่องไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการลงมือพายด้วยตัวเอง ทำให้กึกก้องได้รู้จักระบบนิเวศบ้านตัวเองมากขึ้น เข้าใจแหล่งน้ำ เข้าใจธรรมชาติการตั้งถิ่นฐาน และเห็นปัญหาของชาวบ้านริมคลองที่ถูกหมักหมมมานาน

          “การพายเรือทำให้เราเห็นปัญหาด้วยในบางครั้งที่เราไปเจอผู้คน เพราะว่าจริง ๆ แล้วคนแม่กลองยังอยู่ริมน้ำเยอะมาก คนเล็กคนน้อยอยู่ในคลองเล็กคลองน้อยเต็มไปหมดเลยครับ และส่วนมากคลองเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ”

          กึกก้องจึงต่อยอดจากการพายเรือสำรวจลำคลองสู่การตั้งกลุ่ม ‘ลำกระโดงสโมสร’ เพื่อจัดทริปให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสสายน้ำแม่กลองผ่านการพายเรือ  กิจกรรมนี้ทำให้คลองเล็กคลองน้อยที่ไม่มีใครสนใจได้แจ้งเกิดในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และทำให้ชาวบ้านได้รู้ว่าเขามีทรัพยากรอะไรอยู่ในมือบ้าง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาสนใจดูแล

          “ผมอยากให้การพายเรือไปตามคลองเล็กคลองน้อย สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของคนแต่ละชุมชนได้ ผมบอกคนในชุมชนเสมอว่า นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่เขาจะสามารถเล่าเรื่องชุมชนให้มันดังขึ้นได้ และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เรียกร้องการดูแลรักษาจากหน่วยงานหรือคนข้างนอกด้วยครับ”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก

          หลังเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก รัฐบาลได้วางโครงสร้างภาพรวมของประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมมากขึ้น หลายสิ่งในเมืองแม่กลองเริ่มพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ มีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนท้องถิ่น เพราะการสร้างเขื่อนเป็นการตัดวงจรชีวิตของน้ำ ยิ่งเมืองระบบนิเวศสามน้ำอย่างแม่กลองแล้วนั้น บางพื้นที่ต้องการน้ำจืด บางพื้นที่ต้องการน้ำกร่อย และบางพื้นที่ต้องการน้ำเค็ม เมื่อน้ำจืดโดนกักเก็บจนไม่สามารถหมุนเวียนได้ในหน้าน้ำหลาก เวลาน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะทะลักเข้าสู่ไร่สวนของชาวบ้านจนพืชผลล้มตาย

          ทั้งนี้ การพัฒนาผังเมืองและการสร้างถนน ยังทำให้น้ำไม่สามารถเคลื่อนที่ตามกระแสเดิมได้ เมื่อไม่มีทางไหล น้ำก็เอ่อนองท่วมถนน ทว่าไร่สวนของชาวบ้านกลับไม่ได้รับน้ำที่เพียงพอ

          “ด้วยเมืองเปลี่ยน ทางน้ำหายไปมาก อีกทั้งระบบการจัดการน้ำแบบที่บอกว่า ใครมีสิทธิที่จะได้น้ำจากหน่วยงานไปเท่าไหร่ ทำให้เกิดปัญหาว่า บางครั้งคนทะเลไม่ได้ต้องการน้ำเค็มอย่างเดียว เขาต้องการตะกอน ต้องการน้ำจืดเพื่อให้สัตว์น้ำโต บางทีเค็มไปหอยตายอีก ตรงนี้จะเรียกร้องให้ผู้บังคับน้ำปล่อยน้ำลงมามากกว่านี้ได้ไหม ในเมื่อจะต้องเก็บน้ำให้ชาวนาในฤดูต่อไป ผมคิดว่าการต่อรองอะไรพวกนี้เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์รูปแบบหนึ่งครับ”

          ในฐานะคนรุ่นใหม่กึกก้องเห็นปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่กลอง เป็นเรื่องที่ใหญ่และยากมากพอสมควร เพราะในแต่ละพื้นที่ก็ต้องการน้ำจืดในปริมาณที่ต่างกัน อีกทั้งการจัดการน้ำของภาครัฐก็ถูกวางระบบไว้มายาวนาน เขาเลยได้แต่หวังว่า เสียงของเขาและชาวบ้านจะดังพอให้เกิดการแก้ไข

          “ถ้าถามผมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีองค์ความรู้เท่าเกษตรกรยุคเก่าเลย เราคงทำได้แค่เรียกร้องและต่อรองเท่านั้นครับ เราทำได้แค่บอกว่าเรามีปัญหา แต่ถ้ายิ่งไม่ทำอะไรไปก็จะยิ่งตีกันมากขึ้น อาจจะเป็นสงครามในอนาคตเลยก็ได้ครับ”

อนาคตของน้ำ อนาคตของแม่กลอง

          ปัจจุบันคนแม่กลองส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำ และในอนาคตก็คงจะเป็นเช่นนั้นอยู่ ทว่าอนาคตย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ หรือการจัดสรรทรัพยากรของมนุษย์ที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ในฐานะคนแม่กลอง กึกก้องพยายามศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับคน เกี่ยวกับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปให้มากขึ้น โดยเขาตั้งใจว่า งานศึกษาวิจัยของเขาต่อจากนี้จะมีเพื่อศึกษาวิธีการอยู่ร่วมกับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะต้องใช้ภูมิปัญญาแบบเดิมหรือใช้เทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาช่วยก็ตาม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทั้งคนและน้ำ

          “โลเคชั่นเราอยู่ตรงนี้ เราหนีไปไหนไม่ได้ เราใกล้ทะเลแค่นี้เอง ดังนั้นน้ำเป็นอนาคต ความฝันของผมคือทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านเมืองตรงนี้อยู่กับน้ำได้ เราจะอยู่อย่างไรให้ได้อย่างมีความสุขกับน้ำที่มันเปลี่ยนแปลงไป อะไรประมาณนี้ครับ ไม่รู้ว่ายากไปหรือเปล่า” กึกก้องกล่าวทิ้งท้ายพร้อมหัวเราะ ทว่าแววตาของเขาล้วนเต็มไปด้วยความหวัง

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ กึกก้อง เสือดี นักวิจัยโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี: การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฐานนิเวศวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน

กึกก้อง เสือดี และ เกรียงไกร เกิดศิริ. (2553). แผนที่ที่อยู่อาศัยทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร