Beautiful Plants For Your Interior

“ลุ่มน้ำท่าจีน” อู่ข้าวอู่น้ำคนภาคกลางกับปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม

ข้าวนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสําคัญต่อประเทศอย่างมาก เป็นอาหารหลักประจำชาติซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีต เป็นพืชที่มีความสำคัญมากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นปัจจัยหลักเพื่อการบริโภคของประชากรทั้งในประเทศและของโลก

ปัจจุบัน ลุ่มน้ำนครชัยศรีหรือบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน ยังคงเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็เป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นด้วย โดยเฉพาะ อําเภอบางเลน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สําคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม โดยอําเภอบางเลนมีอาชีพทำนา จํานวน 7,537 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่ปลูก 209,580.75 ไร่ มีผลผลิตถึง 182,404.89 ตันต่อปี มีผลผลิตเฉลี่ย 870.33 กิโลกรัมต่อไร่  ซึ่งจากข้อมูลนี้สะท้อนถึงความสำคัญของพื้นที่ในการเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนภาคกลาง

พื้นที่อําเภอบางเลนมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านการใช้น้ำ ซึ่งมีความสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นพื้นที่ติดทะเลจึงเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม แลกเปลี่ยนสินค้ากับภูมิภาคอื่น ๆ

“สมัยก่อนมีกุ้งแม่น้ำเยอะ จะมีคนตกกุ้ง หากุ้งกันในแม่น้ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะแหล่งน้ำเจอสารพิษที่ปล่อยมากับน้ำเสีย บางปีที่น้ำเยอะก็ปะปนมากับน้ำ ทำให้สัตว์น้ำแทบจะไม่เหลือ”

ผลกระทบจากคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมของแม่น้ำท่าจีน

พื้นที่ทางการเกษตรของบางเลนเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ และมีคลองเชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำที่สำคัญ ๆ ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ทำให้ดินเป็นที่สะสมธาตุอาหารต่าง ๆ เหมาะที่จะเป็นแหล่งเพาะปลูก แต่ในปัจจุบันแม่น้ำท่าจีนมีปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ซึ่งเกิดจากกิจกรรมหลากหลาย มีชุมชนหนาแน่น และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก จากการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี Microbial Source Tracking  ที่สืบค้นแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยการใช้แบคทีเรีย ไวรัส หรือจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ ของ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ส่งผลให้การกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำและนโยบายป้องกันมลพิษทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คงจะเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า อู่น้ำอู่ข้าว หรือ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ถามว่าในปัจจุบันนาเรายังมีข้าวไหม ในน้ำเรายังมีปลารึเปล่า เพราะว่าเรื่องของคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก ประเทศเราที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่าง ๆ ตอนนี้เราได้รับผลกระทบจากการที่คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม”

การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในบริเวณแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคหลายสาเหตุ เช่น ชุมชนที่ขาดความเข้าใจในการจัดการด้านมลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะในเชิงวิชาการ และในการจัดการปัญหายังขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่องในการสนับสนุนของหน่วยงานราชการ ปัญหาน้ำเสียจึงเป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัญหามลพิษที่พบในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน  คือปัญหาจากฟาร์มเลี้ยงสุกรบางแห่งและเกษตรกรรมบางประเภท ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำท่าจีนโดยไม่มีการบำบัดก่อน และมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ริมน้ำจำนวนมาก ที่ส่วนใหญ่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน อีกทั้งยังมีชุมชนขนาดใหญ่  ขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือมีแล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงการใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชและวัชพืชอีกด้วย

“เรามีเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2580 คุณภาพน้ำทั้งประเทศต้องอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งหมด อย่างน้อยร้อยละ 80 เปอร์เซ็น นี่คือเป้าหมาย แต่กรมควบคุมมลพิษทำเองคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการที่จะเข้ามาบูรณาการร่วมกันในการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน”

อนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี

การเปลี่ยนแปลงของน้ำ ยังส่งผลให้การทําเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการทําเกษตรแบบแผนใหม่ ในอดีตเกษตรกรไทยทำนาแบบพึ่งพิงสารเคมีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การปรับเปลี่ยนความคิดที่เคยชินจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว การใช้ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นแทนการใช้สารเคมี เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การปนเปื้อนของสารพิษ สารกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ลดลง ขณะเดียวกันคนที่บริโภคก็ได้รับการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพปลอดสารพิษมากขึ้น

แต่วิถีชาวนาแบบดั่งเดิมยังคงมีการอนุรักษ์ไว้ ในลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พิพิธภัณฑ์วิถีชาวนาลุ่มน้ำนครชัยศรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ภายในวัดสุขวัฒนาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดบางระกำ เกิดจากความหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เกี่ยวกับการทำนาแบบดั่งเดิม ซึ่งรวบรวมเครื่องใช้ในการทำนา ทำไร่ ของแถบลุ่มน้ำนครชัยศรีไม่ว่าจะเป็น ไถเดี่ยว ไถคู่ คราด ลูกทุบ แอก ครกกระเดื่อง และเครื่องทำการเกษตรอีกมากมาย รวมทั้งพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งหลอมรวมชีวิตของคนในลุ่มน้ำนครชัยศรีเข้าด้วยกัน

การบอกเล่าเรื่องราวผ่านข้าวของเครื่องใช้ในการปลูกข้าว สามารถสร้างความเข้าใจเรื่องภูมิปัญญาในการเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศน์ ที่เป็นวิถีชีวิตของชาวนาลุ่มน้ำท่าจีน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์เรือไทยของภาคกลาง ที่นำเรือหลากหลายประเภทที่เก็บรักษาไว้ เช่น เรือขุด เรือสัมปั้น เรือบด เรือมาด และอีกมากมาย

อนาคตของเกษตรกรรมในพื้นที่แม่น้ำท่าจีนจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่การเก็บรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านอันเป็นมรดกของบรรพบุรุษก็เป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันความต้องการเรื่องของอาหารในการอุปโภคบริโภคมีมากขึ้น ตามความเจริญเติบโตของเมืองและชุมชน แหล่งน้ำเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้

จากการลงสำรวจบริเวณพื้นที่แม่น้ำท่าจีน กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพแม่น้ำท่าจีน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือการป้องกัน ควบคุม กำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย การลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ และการติดตามตรวจสอบ ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ร่วมไปถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ และสิ่งสำคัญที่สุดการสร้างการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งการยกระดับคุณภาพลุ่มน้ำท่าจีน เป็นการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และยังส่งผลต่อด้าน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และยังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วย

“เราขาดน้ำไม่ได้ เราขาดอากาศไม่ได้ เราขาดอาหารไม่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์จำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อให้เรามีน้ำสะอาดในการอุปโภค บริโภค และการแก้ไขปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมคุณภาพน้ำบริเวณนั้นเราทุกคนต้องช่วยกัน” ชัยยุทธ แสงให้สุข กล่าวอย่างมีความหวัง

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ ชัยยุทธ แสงให้สุข ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำเสียเกษตรกรรม กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ

บทสัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ ชะอ้อนชม คนขับเรือนำเที่ยว ตลาดน้ำวัดลำพญา กล่าวถึงแม่น้ำท่าจีน