Beautiful Plants For Your Interior

มองอนาคตสายน้ำบางเลน คุณชัยยุทธ นักบริหารจัดการคุณภาพน้ำ

          หากกล่าวถึง “บางเลน” หลายคนมักคุ้นเคยเมื่อเดินทางไป จ.นครปฐม และอาจนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่าง “ตลาดน้ำลำพญา” แล้ว บางเลนยังเป็นอำเภอที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่มากที่สุดในจังหวัดนครปฐมซึ่งมีแม่น้ำท่าจีนพาดผ่าน ความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำได้สร้างโอกาสด้านเกษตรกรรมที่ให้ผลผลิตทั้งผัก และผลไม้ได้ตลอดช่วงฤดูกาล รวมถึงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่นำรายได้เข้ามาสู่ท้องถิ่น ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนเมืองที่เจริญเติบโต และผู้คนล้วนผูกพันกับสายน้ำ

          ในอีกมุมหนึ่ง การเพิ่มขึ้นของประชากร และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่รุดหน้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการรุกคืบของแหล่งที่อยู่อาศัยสู่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เกิดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ก่อมลพิษที่เจือปนลงสู่แหล่งน้ำสะอาด ซึ่งกระทบต่อบรรดาสัตว์น้ำที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งที่อยู่อาศัย

          เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ กำลังเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำ ชัยยุทธ แสงให้สุข นักบริหารจัดการภาครัฐที่เล็งห็นปัญหาในอนาคต จึงลงมือตั้งรับด้วยแผนบริหารจัดการมลพิษ โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนหันกลับมามองทรัพยากรน้ำกันมากขึ้น

          “ผมมองว่าสิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องมลพิษที่เจือปนลงสู่แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรือจากธรรมชาติก็ถือว่าเป็นมลพิษได้ ยิ่งเราใช้ประโยชน์จากน้ำ ก็ย่อมเกิดการระบายของเสียลงสู่แหล่งน้ำมากขึ้น และผลกระทบก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเราในฐานะที่เป็นผู้ใช้น้ำในการดำรงชีวิตประจำวัน” ชัยยุทธ แสงให้สุข ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำเสียเกษตรกรรม กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กล่าว

“มลพิษทางน้ำ” สั่นคลอนความอุดมสมบูรณ์ทุกปากท้อง

          เมื่อมลพิษทางน้ำเจือปนลงสู่แหล่งน้ำแล้ว จะทำให้สภาพเดิมของน้ำเปลี่ยนไป โดยเฉพาะของเสียจากภาคการเกษตร และปศุสัตว์ในรูปสารอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand ; BOD) ก่อให้เกิดภาวะมลพิษที่สร้างความเสียหายต่อคุณภาพน้ำ ระบบนิเวศ และชุมชนที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำ ทำให้เกิดปัญหาข้อพิพาท และข้อร้องเรียนจากปัญหาการระบายน้ำเสียที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุม

ภาพจาก “รายงานการดำเนินงาน กองจัดการคุณภาพน้ำ พ.ศ. 2564”

          “ในมุมมองของกรมควบคุมมลพิษ เราพยายามจะออกกฎหมายที่เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกคน เช่น การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากภาคเกษตรกรรม และปศุสัตว์ จะต้องควบคุมการระบายน้ำเสียในรูปของสารอินทรีย์ให้ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นการควบคุมจึงเป็นจัดการกับแหล่งต้นกำเนิดของเสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำต่อไป” ชัยยุทธ แสงให้สุข กล่าว

ภาพจาก “รายงานการดำเนินงาน กองจัดการคุณภาพน้ำ พ.ศ. 2564”

          การบริหารจัดการน้ำ และมาตรการควบคุมมลพิษในแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากจากน้ำเสีย แต่เป็นเครื่องมือผลักดันให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ เพื่อรักษาแหล่งน้ำสาธารณะของทุกครัวเรือนที่ต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภค

ภาพจาก “รายงานการดำเนินงาน กองจัดการคุณภาพน้ำ พ.ศ. 2564”

          “ในเรื่องของความขัดแย้ง การแก้ไขปัญหาก็ต้องเกิดจากการที่ชุมชนและแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ก็ต้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันว่า ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ประกอบการจะช่วยประชาชนอย่างไรในการที่จะฟื้นฟูคุณภาพน้ำตรงนั้น เพราะชาวบ้านไม่ได้ต้องการเงินจากแหล่งกำเนิดมลพิษ แต่ต้องการทางออกของปัญหามลพิษที่ส่งผลต่อพวกเขา  ตรงนี้ผมมองว่าทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐต้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนและการแก้ไขปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมคุณภาพน้ำบริเวณนั้นร่วมกัน คงให้คนใดคนหนึ่งทำไม่ได้”

ยกระดับคุณภาพน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต

          การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐนับเป็นเรื่องที่ท้าทายในการขจัดปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเน้นสำรวจพื้นที่เพื่อรู้เท่าทันสถานการณ์น้ำเสียที่กำลังเกิดขึ้น และเกิดเป็นแนวทางในการทำงานที่จะช่วยยกระดับคุณภาพน้ำ เช่น มีแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มสุกร เป็นกรอบแนวทางให้มีฟาร์มปศุสัตว์มีการบำบัดน้ำเสีย เพื่อควบคุมปริมาณการระบายความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD loading) ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำ รวมถึงมีการกำหนดบทลงโทษในกรณีมีการระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐานที่กำหนด

          เป้าหมายของมาตรการควบคุมมลพิษไม่ใช่มองแค่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเพียงเท่านั้น แต่เป็นการชวนมองไปข้างหน้าเพื่อรักษาแหล่งน้ำสะอาดในปัจจุบัน และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดกระแสความร่วมมือในการลดปัญหามลพิษทางน้ำอย่างยั่งยืน

          “คงต้องยอมรับว่าในอดีตการเกษตรของเรามีการใช้สารเคมีค่อนข้างเยอะ ซึ่งก่อภาวะมลพิษเจือปนสู่แหล่งน้ำ แต่ปัจจุบันผมก็ต้องกราบนับถือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีจิตอนุรักษ์ เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวที่ร่วมกันลดใช้สารเคมี รวมไปจนถึงกลุ่มปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำเสียมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ไม่มีหน่วยงานไหนทำงานด้วยตัวเองลำพังเพียงคนเดียวได้สำเร็จ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนเมืองบางเลนด้วย สิ่งที่เราก็จะพยายามผลักดันต่อไปคือเรื่องการยกระดับคุณภาพน้ำ เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำท่าจีนไว้”

มาตรการดูแลคุณภาพน้ำ เพื่อรากฐานความมั่นคงในอนาคต

          การบริหารจัดการคุณภาพน้ำชุมชนเป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานเชิงนโยบาย การติดตามตรวจสอบ เพื่อเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแผนบทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเป็นแผนการทำงานต่อเนื่อง 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสียในภาพรวมของพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง พร้อมทั้งฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน

          มาตรการ และแผนปฏิบัติการต่าง ๆ จึงมุ่งเป้าไปที่การควบคุมน้ำเสีย และการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญทั้งในแง่ของการอุปโภค บริโภค และต้นทุนทางเศรษฐกิจของชุมชน

          “เราพยายามอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องของการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ เพราะปัญหาเรื่องมลพิษทางน้ำเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้นการกำหนดเรื่องของแผนปฏิบัติการ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเสียในชุมชน เราต้องวางเป้าหมายและรากฐานในอนาคตว่า จะทำอย่างไรให้น้ำเสียจากชุมชนมีการบำบัดให้ถูกต้อง โดยไม่ให้น้ำเสียไหลลงแม่น้ำท่าจีนโดยตรง เราตั้งเป้าว่า ระบาย ในปี พ.ศ.2580 น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากน้ำเสียชุมชนร้อยละ 80 ต้องผ่านการบำบัดก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำตามมาตรฐานที่เรากำหนด” ชัยยุทธ กล่าว

มองบางเลน ผ่านสายน้ำสู่สายอนาคต

          เมื่ออำเภอบางเลนและแม่น้ำท่าจีนนั้นเชื่อมโยงกัน สายน้ำที่พัดพาความอุดมสมบูรณ์เข้ามาสู่พื้นที่ ซึ่งสร้างโอกาสทั้งการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้นทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการพัฒนาของชุมชนเมือง และมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ ทั้งคนทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงมักแวะเวียนมาอุดหนุนสินค้าคุณภาพของอำเภอบางเลน สายน้ำจึงเปรียบเป็นสายธารของความรุ่งเรืองที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนบางเลน และเป็นทรัพยากรสำคัญที่ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้

          “เราใช้ประโยชน์จากน้ำมากกว่าที่เราคิด หากเราปล่อยมลพิษในน้ำสะสมต่อไปเรื่อย ๆ เราก็จะต้องเผชิญกับคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมมากกว่าเดิม เมื่อมองรอบตัวอีกครั้ง ทุกอย่างมีความเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจและสังคมไปหมด จนอาจหลงลืมไปแล้วว่า น้ำคือชีวิต เราขาดน้ำไม่ได้ หากเราไม่มีน้ำ เราก็อาจจะไม่มีชีวิตที่จะมองเห็นอนาคตได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการดูแลน้ำเป็นเรื่องสำหรับทุก ๆ คน เป็นประเด็นที่อยากจะฝากไว้ว่าอนาคตถ้าเราไม่ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันวันนี้ วันหน้าเราก็จะเจอปัญหาในเรื่องของการแย่งชิงน้ำกัน”

          การติดตามตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำในแหล่งน้ำในวันนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ และนำไปสู่การแก้ปัญหามลพิษทางน้ำร่วมกัน การจะยกระดับคุณภาพน้ำได้เป็นเรื่องที่ท้าทาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในการออกแบบนโยบายควบคุมมลพิษ ที่ไม่ใช่มุ่งเน้นเพียงการบังคับใช้และบทลงโทษตามกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นการมองภาพในอนาคต เพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรน้ำที่มีค่าสำหรับทุกคน

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ ชัยยุทธ แสงให้สุข ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำเสียเกษตรกรรม กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ

รายงานการดำเนินงาน กองจัดการคุณภาพน้ำ พ.ศ. 2564