Beautiful Plants For Your Interior

เรือนแพที่หายไป ในโลกที่สมดุลเปลี่ยน

          มนุษย์เป็นนักออกแบบโดยธรรมชาติ เมื่อเราผูกพันกับสภาพแวดล้อมแบบไหนแล้ว เราก็พร้อมที่จะตั้งรกรากเพื่ออยู่อาศัยอย่างถาวร นี่จึงทำให้ “น้ำกับชีวิตแบบไทย” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีการตั้งถิ่นฐานที่เกาะติดกับแม่น้ำมาตั้งแต่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นสังคม  ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม น้ำคือปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก เป็นสื่อกลางของการคมนาคม และการขนส่งสินค้า  การสร้างเรือนแพ  ถือเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ทำให้ที่อยู่อาศัยสามารถปรับระดับตำแหน่ง ความสูงต่ำได้ตามระดับของแม่น้ำลำคลอง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำรงชีวิต และง่ายต่อต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อจำเป็น

          จังหวัดพิษณุโลก หรือรู้จักกันในชื่อ “เมืองสองแคว” เป็นเมืองที่เติบโตมาจากฐานทรัพยากรน้ำเป็นสำคัญ โดยมีแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกลางเมือง คือ “แม่น้ำน่าน” การเติบโตของเมืองจึงควบคู่ไปกับเส้นทางน้ำที่ไหลผ่าน เกิดเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่ไปกับน้ำในชื่อ “เรือนแพพิษณุโลก”

พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร
สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ
หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา

          แม้กระทั่งคำขวัญของจังหวัด ยังบรรยายถึงสภาพเรือนแพที่มีอยู่คลาคล่ำริมสองฝั่งแม่น้ำน่าน แต่หากเราได้ไปเยือนพิษณุโลก ณ ตอนนี้ เรือนแพที่เลื่องชื่อได้จางหายไปเสียแล้ว และอาจจะเป็นแค่ความทรงจำของคนพิษณุโลก เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเรือนแพลดลง จนแทบจะไม่มีเรือนแพในบริเวณตัวเมืองให้เห็น หรือมีอยู่ก็น้อยเต็มที

          “พิษณุโลกคำขวัญเขาก็บอกอยู่แล้วสองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมืองมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีมาแล้ว การที่แม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมือง อันแรกเป็นแลนด์มาร์คสำคัญสร้างภูมิทัศน์ให้กับเมืองมีความสวยงาม”

          ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี มีบ้านเรือนแพจำลองหลากหลายแบบที่ทำขึ้นจากแบบแปลนเรือนแพที่ปรากฏในพิษณุโลกทุกกระเบียดนิ้ว และยังเก็บรักษาภาพเมืองโบราณของพิษณุโลกครั้งที่แม่น้ำน่านยังมีเรือนแพอยู่เต็มทั้งสองฝั่ง  นอกจากนั้นในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวียังมีการเก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้โบราณที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์หลายชิ้น จนถือว่าเป็นคลังความรู้เก่าแก่ประจำจังหวัด

วิถีคนแพในอดีต

          แม่น้ำน่านแบ่งเมืองพิษณุโลกออกเป็นสองฝั่ง คือตะวันตก และตะวันออก เกิดความเจริญจากริมสองฝั่งน้ำ ขยายออกกลายเป็นเมืองในปัจจุบัน กลุ่มคนที่ทำงานรับจ้าง ทำเกษตรกรรม นิยมปลูกเรือนแพในน้ำ เพราะง่ายต่อการออกไปทำงาน และขนส่งสินค้า ซึ่งในอดีตถนนหนทางบนบกยังไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน

          “ตอนสมัยเด็ก ๆ ครูอยู่แพตั้งแต่คลอดเลย เรียกได้ว่า เกิดบนเรือนแพนี้เลย ความเป็นอยู่สมัยก่อนสะดวกสบายมาก เพราะอยู่แพอากาศเย็นและถ่ายเทดี เอาจริง ๆ แพไม่ได้แคบสามารถอยู่กันทั้งครอบครัว เราเคยเลี้ยงพระ จัดงานแต่ง ปรับเปลี่ยนได้หมด  จะว่าไปคนแพผูกพันกับชีวิตในแม่น้ำ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้ง ซักผ้า อาบน้ำ ทำครัว ขับถ่าย อยู่ในแพหมดเลย”

          ครูไพลิน ชูกลิ่น หยิบภาพเก่าขึ้นมาให้พวกเราเห็น ซึ่งเป็นการบันทึกช่วงเวลาต่าง ๆ ขณะที่อาศัยอยู่ในแพ ซึ่งชาวแพเองก็มีโฉนดที่ดิน มีกรรมสิทธิ์ในที่ของตัวเอง แต่มีบ้างที่จะต้องย้ายจุดตั้งเรือนเพื่อไปตำแหน่งอื่น ๆ ตามคำสั่งของเทศบาลเมืองพิษณุโลก

          เรือนแพมีลักษณะสะเทินน้ำสะเทินบกที่ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้อย่างดี มีช่องเปิดของเรือนแพเป็นกลไกง่าย ๆ แต่สามารถทนลมแรงในแม่น้ำในช่วงฤดูลมแรงได้ และมีชานบ้านซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น เก็บของ ตากผ้า เลี้ยงสัตว์และปลูกพืช หากมองในภาพรวมเรือนแพเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ถ่ายทอดชีวิตของผู้คนได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุดโดยลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นของบ้านลง เลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาโดยเฉพาะไม้ไผ่เป็นทุ่นลอย เพื่อไม่ให้หนักจนเกินไป

          ตำแหน่งที่วางตัวของเรือนแพมีพลวัตรสูงไม่ได้ยึดติดที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร ขึ้นอยู่กับระดับน้ำที่ขึ้นสูงและต่ำ บางจุดเรือนแพก็กระจุกตัวอยู่ใกล้กันให้พอเดินข้ามกันได้ แต่บางจุดก็กระจายตัวออกห่างกัน  เช่น เมื่อช่วงน้ำหลาก เรือนแพก็อยู่กระจัดกระจายไม่แออัด แต่เมื่อถึงช่วงน้ำแล้ง เรือนแพจะมากระจุกตัวที่แผ่นน้ำแคบ ๆ กลายเป็นชุมชนใกล้ชิด ที่ไม่ต้องใช้เรือในการข้ามไปมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรือนแพคือชุมชนสองฤดูอย่างแท้จริง

          “ผมเห็นเรือนแพมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีเพื่อนเล่นที่อยู่อาศัยเรือนแพ พวกเราก็กระโดดเล่นน้ำได้ทุกวัน สมัยก่อนนั้น เรือนแพของพิษณุโลกใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก เขาจะเอาแฝกหญ้าคามามุงหลังคาบ้าน ส่วนรุ่นที่เห็นเป็นหลังคาสังกะสี จะเริ่มมาช่วงปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นสังกะสีโดยทั้งหมด” จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

ปรับที่อยู่อาศัย เมื่อสมดุลเปลี่ยน

          กาลเวลาได้ปรับเปลี่ยนสัณฐานเดิมของเมืองพิษณุโลก มีถนนที่ตัดทะลุตรอกซอกซอยมากขึ้น การเดินทางบนบกไม่ได้ลำบากเหมือนแต่ก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อย ๆ ดึงดูดให้ชาวแพค่อย ๆ ย้ายบ้านเรือนบนน้ำมาอยู่บนบกแทนอย่างถาวร หลายคนให้เหตุผลว่า การเดินทางทางเรือไม่สะดวกเหมือนเก่า เพราะการค้าขายเกิดขึ้นบนบกหมด บวกกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเรือนแพมีราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากวัสดุในธรรมชาติหายากขึ้น โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุพื้นฐานในการทำทุ่นลอย 

          “สมัยก่อนไม้ไผ่ไม่แพง แต่พอเวลาเปลี่ยนไปแพงขึ้นหลายเท่าตัว ลำละถึง 80-100 บาท แล้วต้องเปลี่ยนทุกปี พอพ่อแม่เราเสียชีวิตหมด เราก็เริ่มอยู่แพไม่ไหวแล้ว เพราะเฉลี่ยปีหนึ่งก็ต้องเผื่อค่าซ่อมหลายหมื่นบาท เราคิดว่าในราคานี้ยอมซื้อบ้านดีกว่า ถ้าทำแพเงินก็เน่าไปกับน้ำ ค่าใช้จ่ายแฝงนี่เองคือข้อเสียในการอยู่แพสำหรับเรา”  ไพลิน ชูกลิ่น อดีตผู้อยู่อาศัยในเรือนแพกล่าว

          ผนวกกับทางภาครัฐมีนโยบายพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านเมือง และจัดการระบบสาธารณสุขให้ดีขึ้น เนื่องจากการขับถ่ายของเสียลงแม่น้ำโดยตรง ทำให้มีการจัดระเบียบการตั้งเรือนแพเสียใหม่ และจัดสรรพื้นที่เฉพาะให้เพื่อย้ายที่อยู่อาศัยขึ้นไปบนบก  ดังนั้นจำนวนแพพิษณุโลกจึงค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันปรากฏหลัก ๆ เพียงแพร้านอาหารและแพเชิงท่องเที่ยวตากอากาศเท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังอาศัยในเรือนแพและยังเลี้ยงชีพบนวิถีสายน้ำต่อไป

          “เอาจริง ๆ จะมาว่าคนแพทำน้ำเสียก็ไม่ได้ เพราะน้ำเสียก็มาจากตัวเมืองเช่นกันที่ปล่อยลงแม่น้ำน่าน เมืองเองก็เป็นแหล่งน้ำเสียที่ยากจะไปจัดการ แต่รัฐเลือกจัดการกับคนที่อาศัยแพง่ายกว่า เราอยู่แพก็ไม่ได้อยากให้น้ำเสียเหมือนกัน เพราะมันก็เป็นบ้านของเรา ใครก็รักพื้นที่บ้านของตัวเองทั้งนั้น”  ไพลิน ชูกลิ่น

          แม้ปัจจุบันเรือนแพจะมีน้อยมาก และคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนพิษณุโลก แต่การทำความเข้าใจเงื่อนไขสังคมและวัฒนธรรมในอดีตก็ทำให้เราเห็นตัวตนที่จะเป็นในอนาคตมากยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

บทสัมภาษณ์ ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

บทสัมภาษณ์ ไพลิน ชูกลิ่น อดีต ผู้อยู่อาศัยในเรือนแพ