Beautiful Plants For Your Interior
ในพื้นที่แม่น้ำต่างๆ ที่ไหลลงอ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะทางตอนล่างสุดที่อยู่ชิดชายฝั่งทะเล นับเป็นเขตน้ำกร่อยซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ของแนวป่าชายเลน ที่โอบล้อมเขตปากแม่น้ำทางตอนล่างอยู่… พื้นที่ป่าชายเลนนั้น ทั้งงดงามและให้คุณค่า ในการเป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญมากมายหลายชนิด เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทางธรรมชาติ ตลอดจนเป็นพื้นที่อนุบาลของทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่มีความสำคัญและมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งต่อสภาวะทรัพยากรประมง
ตัวอย่างของความพยายามในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ในเขตบ้านบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
ระบบนิเวศป่าชายเลนที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยพรรณพืชนานาชนิด และเส้นทางคูคลองแพรกสาขาต่างๆ ที่อยู่ภายใน ยังนับเป็นบริเวณที่มีศักยภาพสูงในการช่วยกรองของเสีย และบำบัดสารปนเปื้อนจากเขตแผ่นดินที่ไหลลงสู่พื้นที่ปากแม่น้ำ ระบบนิเวศป่าชายเลนจึงเสมือนเป็นระบบบำบัดทางธรรมชาติ ที่ช่วยควบคุมดูแลคุณภาพน้ำให้มีความสมดุล และอยู่ในสภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องได้
ความงดงามที่ให้คุณค่าอย่างมากมายของพื้นที่ป่าชายเลน
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าชายเลน
ในหนังสือ “แดนปลาทู ถิ่นหอยหลอด วิถีแม่กลอง” ซึ่งเผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2552 คุณวิสูตร นวมศิริ (ผู้นำศูนย์ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ โรงเรียนป่าชายเลน บ้านบางแก้ว) ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญ ของพื้นที่ป่าชายเลนต่อทรัพยากรชายฝั่ง ว่า “เราเติบโตมาได้ก็เพราะทรัพยากรชายฝั่ง ป่าชายเลน มีความสำคัญมาก ๆ จากรุ่น พ่อ แม่ มาสู่รุ่นเรา” อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา พบรายงานสถานการณ์ของความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าชายเลน ทั้งในเชิงปริมาณ (ซึ่งมีพื้นที่ลดน้อยลงไปอย่างชัดเจน) และในเชิงคุณภาพ (ซึ่งสะท้อนในปริมาณของคุณภาพน้ำและผลผลิตทรัพยากรประมงที่ลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก)
ในประเด็นดังกล่าว มีผู้รู้หลากหลายท่าน ได้ย้ำให้พวกเราทราบถึงสถานการณ์และปัญหา ที่พบในพื้นที่ป่าชายเลนของลุ่มน้ำแม่กลอง โดยมีการกล่าวถึงสภาวการณ์สำคัญต่าง ๆ อาทิ คุณไพบูลย์ รัตนพงศ์ธร (ผู้นำศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน บ้านคลองโคน) กล่าวว่า “ปัจจุบันอาชีพหมดไป เพราะกระแสความเจริญ ได้เข้ามาสู่คลองโคน ซึ่งพรากสิ่งที่ดีงามไปจากที่นี่ คนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในโรงงานต่างจังหวัด ทรัพยากรประมงเสื่อมโทรมร่อยหรอ เพราะการทำประมงไม่ถูกวิธี ใช้อวนตาถี่ และมลพิษในน้ำ” และ คุณภาณุวัฒน์ คงรักษา (ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอด ในเขตตำบลบางจะเกร็ง) กล่าวว่า “ปัจจุบัน เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ และคุณภาพแหล่งน้ำ ปลาจาระเม็ด ปลาหมอทะเล ได้หายไป และทรัพยากรสัตว์น้ำต่าง ๆ ลดลงไปอย่างมาก”
จากสถานการณ์ปัญหาของระบบนิเวศป่าชายเลนและทรัพยากรปากแม่น้ำพบว่า เราควรเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน เพื่อให้เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเจริญพันธุ์ สร้างรายได้ให้ชุมชน และทำให้ลูกหลานไม่ทิ้งบ้านเกิด เพราะมีงานให้ทำในชุมชน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ จำเป็นต้องให้กิจกรรมที่เกิดนั้น อยู่ภายใต้ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ และเป็นการดูแลแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย ให้ดีไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย
พรรณพืชนานาชนิดที่พบในพื้นที่ป่าชายเลน
เส้นทางของคูคลองตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าชายเลน
มีตัวอย่างของกิจกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ในเขตพื้นที่บ้านบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งได้ริเริ่มการปลูกป่าชายเลน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดสร้างแนวไม่ไผ่ชะลอคลื่น ป้องกันน้ำกัดเซาะป้องกันแนวชายฝั่ง โดยในพื้นที่ได้มีการปลูกเสริมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน อาทิ แสม และโกงกางใบใหญ่ ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันคลื่นลมและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งผลจากภาพรวมของกิจกรรม ได้ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเกิดการฟื้นฟูกลับมาเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นรายได้ให้ชุมชน และที่สำคัญ คือ ทำให้เกิดการส่งเสริมสัมพันธภาพในชุมชนขึ้นมา เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน เกิดความรักใคร่ในชุมชนของพื้นที่ตนเองได้มากขึ้น
แนวทางสำคัญ ที่ได้รับจากผู้นำชุมชนในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน (จากหนังสือ “แม่กลอง และการพัฒนาเชิงอนุรักษ์” 2565) คือ การเน้นย้ำว่า “การขยายพื้นที่ป่าชายเลน” ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของพื้นที่อย่างถ่องแท้ โดยควรมีการวิเคราะห์ลักษณะดินที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพันธุ์ไม้เบิกนำ ที่จะนำมาใช้ปลูกและขยายพันธุ์ในพื้นที่
ตัวอย่างของกิจกรรมชุมชนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน สมุทรสงคราม
ในการขยายพื้นที่ป่าชายเลนนั้น การใช้ไม้เบิกนำ อย่างเช่น แสม เพื่อนำไปขยายพันธุ์ในแนวนอกสุด เป็นเรื่องที่เหมาะสม กว่าการปลูกด้วยฝักหรือต้นอ่อนของโกงกางใบใหญ่ นอกจากนี้ กรณีศึกษาในพื้นที่บ้านบางแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ยังพบว่าเทคนิคการขยายพันธุ์ที่ได้ผลดีที่สุดนั้น เป็นการใช้ต้นแสมขนาดกลาง (มีความสูงของต้น ประมาณ 1.5 เมตร) ซึ่งสามารถล้อมเอามาจากพื้นที่ป่าชายเลนธรรมชาติด้านใน ไปใช้เพื่อลงปลูกในแนวด้านนอก โดยการใช้ต้นแสมขนาดกลาง จะให้ผลการเจริญเติบโตที่ดีและมีอัตราการรอดที่สูงกว่ามาก
การขยายพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ผลดีนั้น ยังจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแล และเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรเน้นการใช้กิ่งพันธุ์ หรือต้นตอที่มาจากพื้นถิ่น เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยหากมีการใช้กล้าไม้จากแหล่งที่มาอื่น ๆ อาทิ จากแหล่งพันธุ์ทางใต้ ซึ่งได้เจริญในพื้นที่ความเค็มที่สูงกว่า เมื่อนำมาขยายพันธุ์ในพื้นที่ปากแม่น้ำเขตอ่าวไทยตอนใน ก็มักจะเจริญงอกงามได้ไม่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากในพื้นที่เขตอ่าวไทยตอนในเรามักจะมีค่าความเค็มที่ค่อนข้างต่ำกว่ามากนั่นเอง
ลักษณะ การเคลื่อนที่ของมวลน้ำและลม นับเป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทต่อการขยายพื้นที่ป่าชายเลนเป็นอย่างยิ่ง พื้นที่ป่าเกิดใหม่ที่อยู่บริเวณปากทางเข้าออกของลำคลองขนาดใหญ่ หรือใกล้บริเวณคลองรับน้ำที่มีการปล่อยน้ำจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำลงมาอย่างมากเป็นช่วง ๆ นั้น มักเป็นพื้นที่ที่มีหน้าดินแน่นแข็ง เนื่องจากตะกอนละเอียดที่สะสมอยู่ ได้ถูกพัดพาออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นผลให้พรรณไม้ป่าชายเลนที่เกิดใหม่ เจริญเติบโตได้ไม่ดี และมักจะเสื่อมโทรมลง หรือเจริญเติบโตได้ช้า…
การเรียนรู้ในปัญหาของการขยายพื้นที่ป่าชายเลนเป็นเรื่องที่จำเป็น
ปัจจัยทางด้านคลื่นลม ยังมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีลมสลาตันพัดมา (ประมาณเดือนมีนาคม เดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม) ของแต่ละรอบปี ซึ่งพื้นที่ปากแม่น้ำในเขตอ่าวไทยตอนในมักจะได้รับลมที่แรงขึ้น และทำให้บริเวณขอบฝั่งเกิดการกัดเซาะได้อย่างมาก นับเป็นช่วงที่ไม่เหมาะต่อการขยายพื้นที่ป่าชายเลน
ลักษณะของบริเวณขยายพันธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำ
ในภาพรวมพบว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนให้เกิดอย่างมีประสิทธิผล ต้องเริ่มจากการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจ ในความสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้าใจในประโยชน์ และความเชื่อมโยงของพื้นที่แหล่งน้ำที่เรามีในภาพรวมรวม (ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย จนถึงเขตทะเล) ให้เกิดขึ้น ทั้งในภาครัฐ และภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พบว่าการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างจริงจัง และจัดทำแผนงานด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนในระยะยาว..
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้.. จำเป็นเหลือเกินที่จะต้อง “ระเบิดจากข้างใน” … ซึ่งหมายถึง ต้องอาศัยความทุ่มเท อย่างสุดใจ ด้วยพลังของพี่ ๆ น้อง ๆ ในชุมชนของเราเอง.. ที่จะนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลและความยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง..
การเสริมพรรณไม้ขนาดเล็กให้เจริญขึ้นมาในพื้นที่ธรรมชาติอย่างเหมาะสม
บทความและภาพประกอบโดย จามีกร |