Beautiful Plants For Your Interior

ตลาดใต้พิษณุโลก : ย่านเก่าที่เล่าขานความทรงจำไม่รู้จบ

หากเรามอง “ตลาดสด” เป็นย่านค้าขาย ตลาดจึงอาจเป็นเพียงสถานที่สำหรับซื้อขายในท้องถิ่น แต่อีกมุมหนึ่งนั้น ตลาดสดทำหน้าที่มากกว่าแหล่งจับจ่ายใช้สอย ตลาดใต้พิษณุโลกถือเป็นศูนย์รวมให้ผู้คนในท้องถิ่นได้พบปะกันในย่านการค้าริมน้ำ เป็นสถานที่เชื่อมโยงผู้คนและประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน และถักทอความทรงจำจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

“ผมมองว่าตลาดใต้พิษณุโลก ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตลาดสด ตลาดใต้แห่งนี้เป็นย่านคนจีน และเป็นย่านการค้าที่มีแม่น้ำน่านพาดผ่านกลางเมืองมานับร้อยปี จนกระทั่งเริ่มมีทางรถไฟ และถนนตัดเข้ามาในตัวเมือง ค่อย ๆ ก่อเกิดสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ และศาลเจ้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ย่านแห่งนี้จึงมีประวัติศาสตร์ของตัวตลาดที่เติบโตผ่านยุคสมัย และร้อยเรียงวัฒนธรรมความเป็นชาวจีนกับคนไทยได้อย่างลงตัว"

ในย่านตลาดใต้แห่งนี้ เป็นทั้งศูนย์รวมของคนไทยเชื้อสายจีนที่มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงแวะเวียนมาสักการะ “ศาลเจ้าปุนเถ้ากงม่า” อยู่เป็นประจำ วัฒนธรรมของความเป็นชาวจีนกับคนไทยในพื้นที่บริเวณตลาดใต้จึงนับเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมชีวิตชีวา ที่รายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่

“ผมเชื่อว่าตลาดทุกที่ล้วนมีเสน่ห์ ดังนั้นโจทย์ของเราคือ ผู้คนจะมองตลาดใต้แห่งนี้ในมุมใหม่ให้เป็นข้อมูลทางสังคมทางวัฒนธรรมได้อย่างไร นั่นจึงเป็นแนวคิดที่เราใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์เข้ามาร่วมด้วยในการทำงานวิจัยโครงการ “ตลาดใต้ พิษณุโลก” เพราะว่าพื้นที่แห่งนี้อุดมไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นแหล่งเศรษฐกิจของคนในย่านที่เติบโตข้ามยุคสมัย ดังนั้นสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญคือประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของผู้คนในชุมชน” อาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ กล่าว

“ย่านตลาดใต้” อดีตศูนย์กลางทางการค้าริมน้ำแห่งพิษณุโลก

พิษณุโลกเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ติดกับ “ลุ่มแม่น้ำน่าน” นับเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่ไหลพาดผ่านกลางเมือง ทำให้เมืองแบ่งออกได้เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออก ถือเป็นเขตเศรษฐกิจของตัวเมือง ส่วนฝั่งตะวันตกจะใช้บริหารบ้านเมืองก็ถือเป็นพื้นที่ราชการ  ซึ่งเดิมทีบทบาทสำคัญของแม่น้ำสายนี้จะมีความสำคัญในการเดินทัพต้านศึกตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะพิษณุโลกเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ในขณะสงครามสงบ ย่านแห่งนี้จะเปลี่ยนบทบาทจากแนวต้านศึก เป็นย่านการค้าที่คึกคักไปด้วยการขนส่งทางน้ำ แม่น้ำน่านจึงเป็นเส้นทางนำความเจริญรุ่งเรืองเข้ามาสู่เมืองพิษณุโลก ผ่านเส้นทางน้ำที่เชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน

“พิษณุโลกค่อย ๆ เติบโตผ่านสายน้ำจนกระทั่งเกิดการสร้างทางรถไฟเข้ามาสู่ตัวเมืองพิษณุโลก เส้นทางนี้ก็นำพาแรงงานจีนก็เข้ามาจำนวนมาก ชาวจีนค่อย ๆ อพยพตามญาติพี่น้องมารวมกันอยู่ที่นี่ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2450 เพราะฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ตลาดใต้เป็นชุมชนจีนเก่าแก่ เป็นไชน่าทาวน์ของเมือง ก่อเกิดเป็นย่านที่กระจุกตัวกันทั้งร้านค้าที่เป็นเรือนแพ ร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่สร้างขึ้นมาจากไม้”

ภาพสถานีรถไฟมุมสูง ช่วง พ.ศ. 2480

เส้นทางเดินรถไฟที่เข้ามาถึงตัวเมืองพิษณุโลก ส่งผลให้การขยายตัวเมืองเข้าหาเส้นทางรถไฟมากขึ้น ร้านค้าต่าง ๆ ริมน้ำ และเรือนแพก็เริ่มขึ้นมาค้าขายบนบกกันมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของเส้นทางสัญจรทางบก ที่นำพาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่เข้ามาในย่านการค้า

“ตลาดใต้มีความรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 เกิดไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่ เพลิงไหม้ครั้งนั้นได้กลืนกินอาคารดั้งเดิมไปจนหมด เนื่องจากว่าอาคารทุกหลังทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่ แถมตัวอาคารก็กระจุกตัวใกล้ชิดกัน ดังนั้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้ บรรดาบ้านเรือนเหล่านั้นจึงได้รับความเสียหายรุนแรง ซึ่งความสูญเสียยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมพร ธีรวิทยกุล กล่าว

จากเรือนแถวไม้ สู่สถาปัตยกรรมยุคใหม่ของตลาดใต้

ไฟไหม้ครั้งใหญ่ของตลาดใต้เมื่อปี พ.ศ. 2500 ได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ราชการ ตลาด รวมถึงที่อยู่อาศัยจนไม่อาจย้อนกลับไปฟื้นฟูได้ดังเดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสถาปัตยกรรม และผังเมืองพิษณุโลก

“จุดพลิกผันของสถาปัตยกรรมคือเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ 2 มกราคม พ.ศ. 2500 ทำให้เรือนแถวไม้ เปลี่ยนเป็นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่คำนึงถึงความปลอดภัย และถูกสุขลักษณะมากขึ้น รูปแบบของอาคารที่นำมาสร้างใหม่ในย่านตลาดใต้ได้นำสถาปัตยกรรมแบบตึกแถว ซึ่งถูกกำหนดรูปแบบไว้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ที่มุ่งควบคุมด้านความปลอดภัย และป้องกันอัคคีภัย”

สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่หลังเหตุไฟไหม้จึงค่อย ๆ ถือกำเนิดขึ้นในย่านเศรษฐกิจแห่งนี้ ศูนย์กลางทางการค้าจากริ่มฝั่งแม่น้ำน่านเริ่มย้ายที่ตั้งไปยังบริเวณสถานีรถไฟ เกิดการระดมทุนสร้างอาคารใหม่ ตัดถนนในเมือง วางระบบท่อน้ำในตัวเมือง และสร้างหอนาฬิกาประจำเมืองขึ้น ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้มีสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบแทรกตัวอยู่ในบริเวณโดยรอบตลาดใต้

“หากเราเดินชมรอบตลาดใต้ เราก็จะเห็นตัวอาคารหลากหลายรูปแบบแอบซ่อนอยู่ในย่านนี้ เป็นตึกปูน 2 ชั้น และ 3 ชั้นที่จะพบเห็นได้ในบริเวณตลาด ซึ่งลักษณะอาคารแต่ละประเภทจะช่วยบอกช่วงเวลาที่เริ่มสร้างให้เรารู้ได้ และจุดที่น่าสนใจก็คือ ลายปูนปั้นที่ประดับไว้หน้าอาคารคล้าย ๆ กับเป็นลายเซ็นของแต่ละบ้าน  ทำให้สถานที่ย่านนี้นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์รวมงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สวยงามแล้ว ยังมีเรื่องราวของชุมชนที่น่าค้นหาอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ศุภกิจ ยิ้มสรวล กล่าว

ย่านเก่าตลาดใต้ เล่าความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น

การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่มักมาพร้อมกับการใช้สอยของผู้คนในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ตัวตลาดใต้จึงเปรียบเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่คนในชุมชนได้สัมผัสประสบการณ์ร่วมกัน ทั้งความเป็นมาของตระกูลในอดีต ภาพถ่าย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่นั้น ล้วนเป็นเรื่องราวที่ส่งต่อได้ผ่านการบอกเล่า

“จริง ๆ ชุมชนมีของดีที่ซ่อนอยู่แล้วเป็นสารตั้งต้น ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และภาพถ่ายในอดีต แต่ของเหล่านี้หากไม่มีใครเข้าไปค้นหา ของเหล่านั้นก็ถูกเก็บซ่อนไว้ต่อไป ดังนั้นงานวิจัยของเรา “ตลาดใต้ พิษณุโลก” ก็อยากจะร่วมเล่าเรื่องของชุมชนด้วยนวัตกรรมสื่อ และกิจกรรมในย่านนี้มากขึ้น"

การนำข้อมูลของคนในชุมชนมาร้อยเรียงเรื่องราวใหม่ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทีมนักวิจัย และนักพัฒนาท้องถิ่น เพราะต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนในการให้ข้อมูล และใช้เวลาจัดการข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็น “ย่านเก่า เล่าเรื่อง”

“เชื่อว่าทุกคนนั้นรักชุมชนของตนเอง เพียงแต่อาจจะมองไม่เห็นว่าเขามีของดีอะไรซ่อนอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ นักพัฒนา รวมไปถึงภาครัฐด้วยที่จะต้องร่วมมือกันกระตุ้นให้คนในชุมชน เล่าเรื่องราวออกไปสู่ภายนอกมากขึ้น ความประทับใจของเราคือการได้ทำงานร่วมกันกับชุมชน และทำให้ต้นทุนที่ชุมชนมี ผลิดอกออกผลคืนกลับไปสู่ชุมชน เกิดเป็นถนนสายวัฒนธรรมช่วยกระตุ้นย่านเศรษฐกิจให้พวกเขาได้” อาจารย์ ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล กล่าว

ตลาดใต้พิษณุโลก นอกจากจะเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย และครัวเมืองของชุมชนแล้ว สถาปัตยกรรมในตลาดเก่าแห่งนี้ยังมีศักยภาพในบันทึกประวัติศาสตร์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน เป็นย่านที่ชุมชนใช้ชีวิต เติบโต และผูกพัน ตลาดใต้จึงหลอมรวมความทรงจำ และวัฒนธรรมของชุมชนอย่างไม่เคยหลับไหล และเปิดต้อนรับแขกผู้มาเยือนอยู่เสมอ

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ อาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร และ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต” เทศบาลนครพิษณุโลก

บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทสัมภาษณ์ อาจารย์ ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ศุภกิจ ยิ้มสรวล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร

รองศาสตราจารย์ศุภกิจ ยิ้มสรวล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล, แกะรอยอาคาร ในย่านเก่า : โครงการวิจัย ประวัติศาสตร์สร้างย่านเพื่อการเรียนรู้ สำหรับเทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (2022)