Beautiful Plants For Your Interior

อย่าเอาแค่ปลูก ต้องเรียนรู้ที่จะ “ซ่อมป่า”

ปัญหาคลื่นลม คลื่นทะเล ส่งผลกระทบกับชุมชนริมชายฝั่ง ทั้งความแปรปรวนทางธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และแรงปะทะของคลื่นทะเลที่ซัดอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่บริเวณริมชายฝั่ง เช่น กรณีของชุมชนบางบ่อ หมู่ 10 จ.สมุทรสงคราม ที่คนในชุมชนได้ประสบกับการกัดเซาะผิวดินซึ่งกินพื้นที่กว้างถึง 30 ไร่ ทำให้ชุมชนต้องอพยพครัวเรือนออกจากพื้นที่

การปลูกป่าชายเลนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นแนวกั้นคลื่นลมทางธรรมชาติที่ช่วยลดการกัดเซาะผิวดินได้ จึงเกิดกระแสร่วมกันปลูกป่าชายเลนที่หลายคนอยากเข้ามามีส่วนร่วม และองค์กรต่าง ๆ ก็ยังนิยมจัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม หรือ CSR จนบางครั้งก็เน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์โดยขาดการคำนึงถึงผลลัพธ์ในระยะยาว เพราะการปลูกต้นโกงกาง หรือแสมนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และละเอียดอ่อนกว่าที่คาดคิดไว้

“เรื่องปลูกป่าชายเลนไม่ใช่เรื่องยาก งานหินจริง ๆ คือการซ่อมป่ามากกว่า บางครั้งการทำกิจกรรมปลูกป่าแบบ CSR ที่จัดแล้วจบไป อาจไม่ทำให้เกิดแนวป่าชายเลนใหม่ขึ้นได้จริง ๆ เพราะเมื่อปลูกกันเสร็จแล้ว ถ่ายรูปแล้วแยกย้าย คำถามก็คือใครจะดูแลต้นกล้าเหล่านั้นกันต่อ”

เสียงทุ้มต่ำของนักอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ผู้ใหญ่แดง” หรือ วิสูตร นวมศิริ กล่าวขึ้นระหว่างมองแสงแรกในยามเช้าของป่าชายเลน เมื่อประกายแสงอ่อน ๆ อาบผิวกร้านแดด กร้านลมของนักอนุรักษ์แห่งสมุทรสงคราม

หมู่บ้านของเราประสบกับปัญหาการกัดเซาะมานานแล้ว​ จึงถึงเวลารวมกลุ่มกันแก้ไข ร่วมกันรักษาแผ่นดินหายไม่ให้หายไปมากกว่านี้ด้วยการปลูกป่าชายเลน​ แต่ว่าการลงมือทำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ บางคนเขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องอาสามาอนุรักษ์ป่า เรายิ่งต้องลงมือทำเพื่อพิสูจน์ให้เขาได้เห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วในสมุทรสงคราม ยังมีผู้นำ และชุมชนน่านับถืออีกเยอะ​ที่เข้าใจเรา และมองเห็นความสำคัญป่าชายเลนที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์

ยิ่งลงมืออนุรักษ์ ยิ่งเข้าใจในระบบนิเวศ

ป่าชายเลน (Mangrove forest) เป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน เพราะมีพรรณไม้น้ำนานาชนิด และสัตว์น้ำล้วนอาศัยอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยดินเลนโดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำกร่อย และน้ำทะเลท่วมถึงสลับกันไปมาสม่ำเสมอ แถมยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กได้พึ่งพาเศษพืชไม้ป่าที่ร่วงหล่นเป็นอาหาร การรักษาป่าชายเลนจึงมีส่วนสำคัญในการรักษาสมดุลของธาตุอาหารในดิน และความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ โดยเฉพาะไม้โกงกาง และแสมที่พบได้มากในบริเวณป่าชายเลน

“ป่าชายเลนเป็นแหล่งเกิดอนุบาล​สัตว์น้ำที่เราให้ความสำคัญ เมื่อมีคลื่นทะเลปะทะเข้ามาทางแนวป่าชายเลน กระแสน้ำก็พัดพาสัตว์น้ำขนาดเล็กเข้ามาด้วย ทั้งกุ้ง​ หอย​ ปู​ ปลา จะไหลเข้ามายังแนวป่าชายเลนอ่อนที่เราปลูก​เอาไว้ เป็นบ้านที่ได้พักพิงก่อนจะหวนคืนสู่ท้องทะเล” ผู้ใหญ่แดงอธิบายขณะเดินสำรวจศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน และยังชี้ให้เห็นเหล่าปลาตัวเล็กตัวน้อยที่อิงแอบตามรากต้นโกงกาง

“อย่างเช่นปลากระบอกที่มีไข่เต็มท้อง​ก็ จะเข้ามาอิงแอบและปล่อยไข่ไว้ในบริเวณป่าชายเลนอ่อน​ ไข่เม็ดเล็ก ๆ จะรายล้อมอยู่ตรงบริเวณรากโกงกางบ้าง​ รากแสม​บ้างปลากระบอกรุ่นเล็ก ๆ จะพักอาศัยอยู่ในนี้จนเติบใหญ่แล้วออกไปสู่ภายนอก ที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กก่อนจะไปเป็นอาหารของมนุษย์ต่อไป” ผู้พิทักษ์ป่าชายเลนกล่าว

อนาคตป่าชายเลนยังน่ากังวลสำหรับคนอนุรักษ์

“จริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยดูแลป่าชายเลนกันนัก ส่วนรุ่นเก่าเริ่มสร้างมาด้วยกันก็เริ่มจากกันด้วยอายุขัย ตอนนี้ที่มาช่วยกันดูแลป่าชายเลนของเรามีแต่ผู้สูงอายุ เด็กรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยที่นี่มี 4 คน​เท่านั้น ผมมองว่าชีวิตที่เหลือก็อยากทำงานอนุรักษ์ป่าชายเลนอยู่ตรงนี้​ ยังเฝ้ารอคนมาช่วยดูแลและสานต่อการอนุรักษ์ ยังมีไม้ไผ่ค้ำต้นกล้าจำนวนมากที่เริ่มผุพังจากกระแสน้ำ และต้องซ่อมแซมใหม่” ผู้ใหญ่แดงกล่าวพลางทอดสายตามองไปยังต้นกล้าที่กำลังจมอยู่ใต้กระแสน้ำ

การดูแลรักษาป่าชายเลนต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปลูกแล้วต้องหมั่นสำรวจและคอยเปลี่ยนไม้ไผ่คำต้นกล้าเพื่อให้ทนต่อกระแสน้ำได้ ดังนั้นการซ่อมแซมและฟื้นฟูป่าชายเลนจึงพึ่งพากำลังคน เวลา และงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างมาก

“เราคิดว่าอีกประมาณ 2 ปี ถ้าเกิดปลูกป่าแล้วยังได้น้อยลง ยังขาดคนมาช่วยสนับสนุนเรื่องการซ่อมแซมป่า ผมคิดว่าอาจถึงเวลามาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง ว่าเราควรจะเดินหน้าการอนุรักษ์ต่อไป หรือจะยุติแต่เพียงเท่านี้ เพราะหลายครั้งมาปลูกป่ากันก็ได้เพียงแค่ภาพสวย ๆ แต่ผลกลับไม่ได้เลย”

แม้ว่าการปลูกป่าจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นได้ง่าย แต่สิ่งที่ท้าทายจริง ๆ คือการทำให้กล้าใหม่เติบโตได้อย่างมั่นคง และงอกออกมาเป็นแนวป่าชายเลนใหม่ได้จริง ยังมีต้นกล้าป่าชายเลนอ่อนอีกจำนวนมากที่ขาดกำลังคนมาช่วยดูแลอย่างสม่ำเสมอ

อยากจะชวนมาซ่อม อย่าแค่มาปลูกอย่างเดียว

ต้องบอกตามตรงว่า ทุกวันนี้เราไม่มีงบประมาณซ่อมแซมป่าชายเลน วิธีแก้ของพวกเราคือลงขันบริจาคแบบร่วมด้วยช่วยกันเป็นกองกลางอยู่บ้าง ถ้ากลุ่มจิตอาสากลุ่มไหนที่เขาทำอย่างจริง ๆ จัง ๆ หรือกลุ่มที่เขาอยากเห็นป่าชายเลนเติบโตได้จริง ๆ เราอาจจะมีโครงการให้เขามาช่วยกันอนุรักษ์ เพราะคนปลูกกันเยอะแล้ว อยากมาช่วยกันซ่อมป่าชายเลนหรือเปล่า การมาซ่อมก็ไม่ต้องเสียสตางค์ค่าต้นกล้า​เลย แถมอยากจะขอเลี้ยงข้าวเพื่อขอบคุณสักหนึ่งมื้อ​ เรายินดีอาสาพาลงไปซ่อมป่าร่วมกันเอาเชือกไปผูก​เปลี่ยนไม้ไผ่ เพื่อให้ต้นกล้าเติบใหญ่ได้ต่อไป” ผู้ใหญ่แดงกล่าวด้วยรอยยิ้มในระหว่างพาเดินชมแนวต้นกล้าที่เติบโตพ้นผิวน้ำ

งานซ่อมป่าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะการเพาะกล้าไม้โกงกางอย่างขาดการดูแลเอาใจใส่ ป่าโกงกางใหม่อาจสู้กับกระแสน้ำไม่ไหว และล้มตายได้ในที่สุด การอนุรักษ์ป่าชายเลนจึงต้องความละเอียดอ่อน และเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณริมชายฝั่งที่มีสภาพอากาศแปรปรวนอยู่เสมอ

ภาพฝันในอนาคตของคนใกล้ชิดสายน้ำ

“น้ำสำคัญกับทุกชีวิต จึงอยากให้ทุก ๆ คนช่วยกันดูแลสายน้ำ ด้วยใจจริงอยากจะบอกว่าทุกคนว่าโลกใบนี้ขาดน้ำไม่ได้ ไม่อยากให้ละเลยความสำคัญของน้ำ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าน้ำก็เปรียบเสมือนหม้อข้าวหม้อแกง แม่น้ำแม่กลองยังหล่อเลี้ยงอีกหลายชีวิตที่ต้องพึ่งพิง สิ่งที่จะช่วยส่งต่อให้แม่กลองอยู่คู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ต้องอาศัยภาครัฐและภาคเอกชนเห็นความสำคัญ และร่วมกันมาช่วยดูแลสายน้ำให้มากกว่านี้” ผู้พิทักษ์ป่าชายเลนรุ่นใหญ่กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

เมื่อป่าชายเลนปลูกขึ้นมาใหม่ได้ง่าย ใคร ๆ ก็ปลูกได้ แต่ยังขาดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อนาคตป่าชายเลนอ่อนก็อาจไปได้ไม่ไกลนัก ดังนั้นการฟื้นฟูและซ่อมแซมป่าชายเลนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ใช้แรงงาน เวลา และทรัพยากรในการดูแลรักษา การดูแลรักษานี้ยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ต้นกล้าป่าชายเลนได้ยืนหยัดพ้นคลื่นลม กลายเป็นป่าผู้พิทักษ์ทั้งชีวิตสัตว์น้ำ และป้องกันผิวดินที่ยั่งยืนต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่วิสูตร นวมศิริ (ผู้ใหญ่แดง) ผู้ขับเคลื่อนการรักษานิเวศป่าชายเลนบ้านบางบ่อ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง www.dmcr.go.th