Beautiful Plants For Your Interior
ภายใต้เส้นทางของแม่น้ำสายต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตภูมิภาค ที่มีมวลน้ำค่อนข้างใส หากเราได้พิจารณาดี ๆ จะเห็นว่ามีกลุ่มของพรรณไม้น้ำ มากมาย หลายชนิด เจริญงอกงาม กระจายกันอยู่ ในเขตที่มีแสงส่องลงไปถึง…
สิ่งมีชีวิตสีเขียว สดใส งดงาม เหล่านั้น เกิดขึ้นเป็นพื้นพรม อยู่ใต้แผ่นน้ำที่ไหลริน… มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง กระจายตัว ผสมผสาน โดยมีปริมาณที่ลดหลั่นกันไป แล้วแต่ลักษณะของชนิดพรรณที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะเกิดปกคลุม บนพื้นผิวดินใต้น้ำนั้นแล้ว… ในแหล่งน้ำใส ที่มีความลึกของน้ำมาก พรรณไม้น้ำหลายชนิด ยังสามารถยืดตัวเองได้สูงเป็นเมตร ขึ้นมาเติบโตงอกงาม กระจายอยู่ในมวลน้ำ …
เราได้เรียนรู้กันมาตั้งแต่เล็ก ว่าพืชพรรณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรณไม้บนบก หรือพรรณไม้ใต้น้ำ ต่างก็มีศักยภาพในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยกันสร้างก๊าซออกซิเจน ให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศที่มีพืชพรรณเหล่านั้นอยู่ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง… อย่างไรก็ตาม ในแหล่งน้ำต่าง ๆ มีก๊าซออกซิเจนที่ละลายอยู่อย่างจำกัดกว่าในชั้นบรรยากาศ… ความแปรปรวนของก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำ จึงเป็นหัวใจ ของความเป็นอยู่… และจัดปัจจัยชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงสถานการณ์คุณภาพน้ำ และโอกาสในการอยู่รอดของสัตว์น้ำทุก ๆ ชนิด
ปัจจุบัน ในประเทศเรา มีแม่น้ำที่ถูกเปลี่ยนแปลงลักษณะของการไหล โดยการปิดกั้นขวางเส้นทางการไหลของน้ำให้ช้าลง หรือหยุดนิ่งไป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ ถนน ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัย ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงลักษณะการไหลของน้ำ ตามเส้นทางของสายน้ำดังกล่าว ผนวกกับปัญหาน้ำทิ้งจากเขตชุมชน มักส่งผลกระทบทำให้ส่วนของแม่น้ำทางตอนกลางและตอนท้าย มีคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงไปเป็นลำดับ…
อย่างไรก็ตาม ภายใต้แหล่งน้ำที่อาจเสื่อมโทรมลง และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ปนเปื้อนลงไปเรื่อย ๆ …การที่เรา ยังคงมีพรรณไม้น้ำที่งดงาม ที่ช่วยสร้างออกซิเจนกันอย่างต่อเนื่อง และเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตใหญ่น้อย ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำได้อาศัยพักพิง และเจริญเติบโตอยู่ได้นั้น.. นับว่าเรายังโชคดีมาก
ตัวอย่างหนึ่ง ในพื้นที่ตามเส้นทางของแม่น้ำเพชรบุรี ที่พบว่าพรรณไม้ใต้น้ำ (โดยเฉพาะกลุ่มดีปลีน้ำและสาหร่ายหางกระรอก) ซึ่งเจริญขึ้น ตั้งแต่บริเวณตอนท้ายของเขื่อนแก่งกระจาน ลงไปตลอดเส้นทางลำน้ำ ในระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำสูงมาก (โดยสามารถฟื้นฟูคุณภาพน้ำ จากต้นทางที่มีออกซิเจนละลายน้ำในระดับที่ต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้เพิ่มขึ้นมาได้ถึงประมาณ 5 มิลลิกรัมต่อลิตร) นอกจากนี้ ยังพบว่า ในส่วนตอนล่างของแม่น้ำ ที่ไหลผ่านเขตชุมชนเมืองไป พรรณไม้ใต้น้ำที่เจริญขึ้นอย่างงอุดมสมบูรณ์ ยังมีส่วนในการผลิตออกซิเจนในน้ำได้ถึงกว่า 60 % ของออกซิเจนที่มีการผลิตขึ้นมาในมวลน้ำทั้งหมด
ซึ่งเมื่อเราพิจารณาในทางกลับกัน หากในบริเวณแม่น้ำดังกล่าว ไม่มีพรรณไม้ใต้น้ำอย่างเพียงพอ.. หรือถูกเรากำจัดออกไปหมดจากแม่น้ำ .. ออกซิเจนที่มีในน้ำ ก็อาจลดลงไปได้อย่างน้อย 60 % จากเดิม ซึ่งเป็นการลดต่ำลง จนเข้าสู่ระดับที่วิกฤตต่อความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำได้ … ซึ่งในท้ายที่สุด แม่น้ำ ที่เคยสวยงาม ก็อาจแปรเปลี่ยนไป.. เป็นเพียงเส้นทางการระบายน้ำทิ้ง ที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงไปได้เรื่อย ๆ …
พรรณไม้ ใต้สายน้ำ… ที่หลาย ๆ ครั้ง ถูกมองว่าเป็น วัชพืช.. หรือเป็นส่วนหนึ่งของ กอสวะ… แท้ที่จริง กำลังทำงานอย่างขยันขันแข็ง ในการผลิตออกซิเจนให้เข้าสู่มวลน้ำ แทบจะตลอดทั้งวัน… โครงสร้างของพรรณไม้ใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการแผ่ของกิ่งก้าน เส้นสายที่อยู่ใต้น้ำ รวมทั้งส่วนของใบ มากมาย ที่กระจายตัวแผ่กว้างออก ยังเป็นที่อยู่อาศัยของพรรณปลา รวมทั้งสัตว์น้ำขนาดเล็กนานาชนิด …พื้นที่ที่พรรณไม้ใต้น้ำเจริญอย่างงดงาม ก็เปรียบเสมือนผืนป่า ที่อุดมสมบูรณ์ ที่อยู่ภายใต้ผิวน้ำ …. ซึ่งให้ทั้ง อากาศ อาหาร และแหล่งพักพิงอาศัย..
พรรณไม้ ใต้สายน้ำ.. เมื่อพิจารณาดี ๆ เราจะเห็นทั้งความงดงาม และคุณค่า. ..
การมอง อย่างเข้าใจ …และช่วยกันดูแลรักษา ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ พอดี กับแต่ละบริเวณ จึงนับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายาม ที่จะอนุรักษ์สายน้ำที่เรามีอยู่ ให้คงความงดงาม และยังประโยชน์ ได้อย่างยั่งยืนที่สุดสืบต่อไป
บทความ และภาพประกอบโดย จามีกร |