Beautiful Plants For Your Interior

พลิกฟื้นวิถีชีวิตริมคลองอัมพวากับ “นายกเต้ย”

          ตู้ม!

          เสียงกระโดดน้ำของกลุ่มเด็กไม่ต่ำกว่าสิบคนในลำคลองอัมพวา พร้อมเสียงหัวเราะเจื้อยแจ้วสนุกสนานที่มีให้ได้ยินแทบทุกวัน คงเป็นเรื่องคุ้นชินสำหรับชาวบ้านในแถบพื้นที่นี้ รวมถึงเป็นหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของ กฤษฎี กลิ่นจงกล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า นายกเต้ย นายกเทศบาลตำบลอัมพวา ผู้เกิด เติบโต และทำงานอยู่ในชุมชนอัมพวา ชุมชนที่คึกคักไปด้วยผู้คน และครึกครื้นไปด้วยเรือในลำคลอง เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ทว่าผู้คนในพื้นที่กลับใช้ชีวิตกันเรียบง่าย แต่มีอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ไม่ว่าใครไปใครมาก็ต้องตกหลุมรักชุมชนแห่งนี้

          ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เรือพ่อค้าแม่ขายเริ่มหายไปจากลำคลอง เสียงกระโดดน้ำอย่างสนุกสนานเริ่มเป็นเพียงความทรงจำอันเลือนลาง แม้ชุมชนอัมพวายังคงเป็นเมืองแห่งตลาดน้ำยามเย็น ทว่าความเจริญทางวัตถุกลับทำให้ผู้คนในพื้นที่ห่างเหินกับสายน้ำไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นเรือพ่อค้าแม่ค้าที่เริ่มหายไป หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มว่ายน้ำไม่เป็น

          ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโจทย์อันท้าทายที่นายกเต้ยและเทศบาลตำบลอัมพวาเร่งกันแก้ไข เพื่อฟื้นฟูเสน่ห์ของวิถีชีวิตริมคลองอัมพวาให้กลับมาดังเดิม

อัมพวาในความทรงจำสีจาง

          “คลองอัมพวาก็เหมือนสระน้ำหน้าบ้าน เช้ามาก็กระโดดน้ำคลองก่อนไปโรงเรียน กลับมาก็กระโดดอีก มีเพื่อนฝูงมากมายเลยที่มาเล่นน้ำด้วยกัน แก๊งผมนี่เขาเล่นกันเป็นฝูงครับ”

          นายกเต้ยเล่าถึงความทรงจำครั้งวัยเด็กด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ กิจกรรมที่เด็กอัมพวาทุกคนต้องทำในสมัยนั้นคือการว่ายน้ำ และพาหนะที่ทุกคนใช้เดินทางคือเรือ จึงไม่แปลกใจที่ทักษะการว่ายน้ำและการพายเรือ จะเป็นความสามารถพิเศษของเด็กอัมพวา

          ชุมชนอัมพวาได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าของลุ่มแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุต่าง ๆ อีกทั้งเป็นชุมชนที่มีคลองอัมพวาไหลผ่านและเชื่อมสัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลองอื่น ๆ เช่น แม่น้ำแม่กลอง คลองบางจาก คลองผีหลอก หรือคลองประชาชมชื่น ซึ่งเป็นคลองขุดที่เชื่อมต่อกับชุมชนทะเล ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านยี่สาร หรือชุมชนบ้านบางตะบูน ด้วยเหตุนี้อัมพวาจึงเป็นศูนย์กลางที่ผู้คนบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองจะมาพบปะกัน

          “ช่วงผมเด็ก ๆ อัมพวาเป็นชุมชนที่มีผู้คนมากมาย มีคนจีนเยอะ เพราะเป็นตลาดเก่าแก่และเป็นศูนย์กลางที่ชาวไร่ชาวสวนจะมาซื้อขายกัน”

          ทว่ากาลเวลาได้นำพาความเจริญและการคมนาคมทางบกเข้ามา ตลาดน้ำเริ่มซบเซา ผู้คนดั้งเดิมเริ่มย้ายถิ่นฐาน วิถีชีวิตริมคลองอัมพวาจึงเป็นเพียงความทรงจำจาง ๆ ของคนรุ่นป้ารุ่นยาย ทว่าสุดท้ายสายน้ำที่ชื่อว่าคลองอัมพวาก็ยังรอการกลับของผู้คนเสมอ

คลองอัมพวากับเรือที่หายไป

          ถ้าเปรียบคลองอัมพวาเป็นชีวิตคนคนหนึ่งที่มีขาขึ้นขาลง ในปีพ.ศ. 2517 คงเป็นขาลงที่น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะการสร้างถนนแม่กลอง-บางแพ และถนนพระราม 2 ทำให้วิถีชีวิตคนริมคลองเริ่มเปลี่ยนไป จากมือจับไม้พายแปรเปลี่ยนมาจับพวงมาลัยรถยนต์ พ่อค้าแม่ขายเริ่มย้ายร้านขึ้นบก แม่น้ำลำคลองจึงเงียบเหงาไปโดยปริยาย

          “พอมีถนนและรถยนต์เข้ามาชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนครับ เรือเริ่มหายไปจากลำคลอง  ตลาดน้ำก็ลดบทบาทลง”

          ครั้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 เทศบาลตำบลอัมพวาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันพลิกฟื้นตลาดน้ำให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้กลับมาในฐานะตลาดน้ำยามเย็น แหล่งท่องเที่ยวสุดสัปดาห์ที่นักท่องเที่ยวต่างอยากเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตริมคลองและชมแหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์

          ยุครุ่งเรืองของตลาดน้ำอัมพวาจึงกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่หอมหวานที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากให้เข้ามาด้วยเช่นกัน

          “พอมีความเจริญก็มีนายทุนเข้ามา ทำให้คนอัมพวาค่อนข้างอยู่ยากหน่อยครับ ของที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชนเริ่มหายไป เพราะประชากรของเราหายไป”

          อีกทั้งปัญหาเรื่องราคาที่ดินที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับคนนอกเข้ามาเช่าพื้นที่ในราคาแพง ส่งผลให้ตลาดน้ำอัมพวามีค่าครองชีพค่อนข้างสูง ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีต่อสายตานักท่องเที่ยว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงพอ ๆ กัน คือ เรือพ่อค้าแม่ค้าในคลองอัมพวาหายไปเป็นจำนวนมาก

          “เราเหลือเรือแม่ค้าอยู่ประมาณ 5 ลำ เท่าที่เราสำรวจตอนนี้นะครับ เทศบาลเราเห็นเรื่องนี้สำคัญ เลยอยากจะฟื้นฟูของเหล่านี้ให้กลับมา จึงจัดโครงการเทศกาลอาหารในเรือของดีอัมพวา-บางช้างขึ้นมาครับ”

          เทศกาลอาหารในเรือของดีอัมพวา-บางช้าง เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลอัมพวากับองค์การบริหารส่วนตำบลบางช้าง ที่ต้องการจัดพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ขายได้พายเรือนำของดีของชุมชนออกมาขาย โดยนักท่องเที่ยวเองก็ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตคนอัมพวา ด้วยการนั่งเรือพายเข้าไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจากเรือพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ เป็นเหมือนการจำลองวิถีชีวิตในลำคลองเมื่อครั้งอดีต ซึ่งนากยกเต้ยอยากให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูของดีและวิถีอัตลักษณ์ของคนอัมพวาให้คงอยู่

          “เพราะถ้าเราหมดเรือแม่ค้าไป ก็หมดเสน่ห์ความเป็นตลาดน้ำอัมพวาครับ”

เพราะเยาวชนในวันนี้ คืออัมพวาในวันหน้า

          “เราเห็นว่าเด็กอัมพวายุคนี้ว่ายน้ำกันไม่เป็นแล้วครับ แล้วก็ไม่มีความผูกพันกับสายน้ำ”

          วันนี้ลูกหลานหลายบ้านในชุมชนอัมพวาว่ายน้ำกันไม่เป็นเสียแล้ว ด้วยช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและช่วงวัยที่ต่างกัน ทำให้เด็กอัมพวาไม่ค่อยได้สัมผัสกลิ่นอายวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่นายกเต้ยเชื่อว่ายังไม่สายเกินไป หากจะทำอะไรบางอย่างให้เยาวชนเหล่านี้หันกลับมาสนใจบ้านเกิดตัวเอง

          “เรื่องสายน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนอัมพวา เราเลยเอาเด็กมาลงเรือเก็บขยะกับชุมชนกับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความรักในสายน้ำ และต่อยอดให้เด็กมาหัดพายเรือไม้ ซึ่งเป็นวิถีเก่าของเรา แต่ก็ยังมีซัปบอร์ด หรือคายัค ซึ่งเป็นวิถีใหม่ให้พวกเขาได้เลือก”

          นายกเต้ยเล็งเห็นว่า แม้เริ่มแรกเยาวชนในชุมชนอาจจะยังพายเรือไม่เป็น แต่เมื่อพายเป็นแล้วก็จะพายเป็นตลอดชีวิตเหมือนการขี่จักรยาน  กิจกรรมนี้จึงไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้เยาวชนผูกพันกับสายน้ำ ทว่ายังสามารถเพิ่มทักษะให้เยาวชนนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้

          “เด็กหนึ่งพันคนในชุมชน เราขอสักห้าถึงสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เด็ก ๆ อาจจะไปต่อยอดความฝัน อยากเป็นหมอ อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ แต่ผมเชื่อว่าจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีโอกาส เพราะไม่มีทุนการศึกษา เทศบาลตำบลอัมพวาก็จะหาเรือมาให้เด็กเหล่านี้ พวกเขาจะได้มีอาชีพค้าขายในวันเสาร์อาทิตย์ครับ”

          นอกจากกิจกรรมสอนพายเรือและเก็บขยะในลำคลองแล้ว เทศบาลตำบลอัมพวายังมีชมรมศิลปวัฒนธรรม และชมรมฟุตบอลให้เยาวชนได้เลือกเข้าร่วมตามความสนใจ เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพราะนายกเต้ยเชื่อเสมอว่า พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมือง พัฒนาบ้านเกิดของตัวเองต่อไป

          “ผมอยากทำเรื่องเยาวชน เพราะเด็กดี โตขึ้นก็เป็นประชาชนที่ดี พอประชาชนดี สังคมก็จะดีตาม เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับสังคมบ้านเรา  ผมก็อายุเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่พวกเขาคือลูกหลานที่ยังอยู่ในอัมพวาต่อไปครับ”

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ กฤษฎี กลิ่นจงกล นายกมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา

อรรถพล จันทร์เพ็ญ. (2554). ผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อชุมชน บริเวณคลองอัมพวา จังสมุทรสงคราม. (วิทยานิพนธ์บัณฑิตศึกษา). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์