Beautiful Plants For Your Interior

ฟาร์มเกษตรในเมืองที่ฝันให้ผู้คนมีแหล่งอาหารปลอดภัย

ในมุมหนึ่งของทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ยังคงมีพื้นที่สีเขียวสวยงาม และที่แห่งนี้เราจะได้ยินเสียงรถราเบาลง แต่กลับเป็นเสียงเรือแล่นแหวกน้ำแทน น่าแปลกยังมีคนกรุงเทพฯ ที่สัญจรด้วยเรืออยู่ แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม

ปกติเราอยู่ที่ถนนเราจะได้ยินแต่เสียงรถยนต์ เสียงแตรบ้าง แต่เปลี่ยนเป็นเสียงเรือ เราเริ่มรู้สึกว่านี่คือเสน่ห์ มีความสงบ และได้ยินเสียงนกร้อง เวลาผู้คนเรือขับผ่านก็มักทักทายกันด้วยรอยยิ้มแจ่มใส

“ปรอ” หรือ “วิไลวรรณ ประทุมวงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งเซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm) คือหญิงสาวผู้หลงใหลธรรมชาติเงียบสงบ เรียบง่าย และเธอมีความตั้งใจที่จะพัฒนาฟาร์มเกษตรในเมืองให้เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน ผ่านแนวคิดแหล่งผลิตอาหารสดและปลอดภัย

“ตอนแรกก็ยังมองไม่ออกว่า คลองบางมดจะเป็นอย่างไร เราก็ได้แต่หวังว่าพื้นที่สีเขียวกับสายน้ำเป็นหน้าที่ของเราต้องดูแล ถ้าเราอยากจะให้เป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ต่อไป เราจะต้องทำอะไรบางอย่าง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราและเพื่อน ๆ อยากจะเชิญชวนคนหลากหลายเข้ามาสัมผัสกับคลองบางมด ได้มาเห็นศักยภาพของชุมชนด้วยตาของเขาเห็น ชวนให้เขาเห็นคุณค่าเศรษฐกิจเชิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

ความอุดมสมบูรณ์เลียบคลองบางมด

“คลองบางมด” เป็นคลองย่อยในระบบคลองด่านและคลองบางขุนเทียน จะไหลผ่านในพื้นที่เขตจอมทอง เขตทุ่งครุและเขตบางขุนเทียน มีความยาวประมาณ 15,800 เมตร มีแนวทางน้ำค่อนข้างตรงต่างจากคลองธรรมชาติ แต่บริเวณนี้มีลักษณะคดเคี้ยวสันนิษฐานว่าเป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อผันน้ำใช้ในการเกษตร

“ย้อนไป 40 ปี ที่นี่เป็นทุ่งนา ปลูกส้มได้ ทำสวนก็ได้” ปรอได้บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตที่มีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ การปลูกส้ม มะพร้าว และพืชสวนครัว ทำให้คนกับน้ำมีความผูกพันกัน คลองบางมดถือว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในการสัญจรคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างชุมชนต่าง ๆ และเป็นพื้นที่น้ำกร่อยที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้

“แต่ปัจจุบันน้ำทะเลเข้ามา เกษตรกรก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากทำสวน เป็นการทำบ่อปลา บ่อกุ้ง วิถีชีวิตของคนบางมดปรับตัวได้เก่ง แต่จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่สามารถอยู่และปรับตัวได้แบบยาว ๆ ” ปรอกล่าวด้วยสีหน้าที่มุ่งมั่น

หลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2526 การรุกคืบของน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ชุมชนชาวคลองที่เคยทำเกษตรกรรมก็ผันเปลี่ยนมาประกอบอาชีพอื่นแทน เพราะปัญหาน้ำเค็มส่งผลให้สวนส้มซบเซาลง ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ชุมชนริมคลองบางมดจะได้ค้นหารูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนต้นทุนเดิมของพื้นที่ที่สามารถดูดซับประโยชน์ได้

ต้นทุนทางธรรมชาติของคลองบางมด ไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับชุมชน แต่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มีคูคลอง ลำน้ำที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งบ่มเพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย

เซฟติสท์ฟาร์ม (SAFETist Farm) ฟาร์มต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียว

คลองบางมดนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ “เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm)” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดภัย ซึ่งเกิดจากความฝันและความมุ่งมั่นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่กว่า 2 ไร่เศษริมคลองบางมด จากพื้นที่ที่เคยปลูกส้มแล้วถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงสมาชิกในชุมชน เซฟติสท์ฟาร์ม แห่งนี้ยังมองการณ์ไกลว่าอยากจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกัน

เวลาเราทำงานวิจัย เราได้รับแรงบันดาลใจจากทางชุมชน เราพูดคุยพบปะผู้คน เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานวิจัยเพื่องานวิจัย แต่เราทำงานวิจัยเพื่อที่จะได้รู้จักผู้คน และรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว เราก็เลยเริ่มหาพื้นที่ริมคลองเพื่อทำอะไรสักอย่างที่เรารู้สึกว่าทำแล้วเป็นประโยชน์ รักษาพื้นที่ได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ตอนนั้นเราอยากทดลองทำเกษตร เพราะว่าเริ่มสนใจเรื่องอาหารปลอดภัย เริ่มสนใจวิถีชีวิตการที่เข้าถึงอาหารปลอดภัย และเป็นการเอางานวิจัยมาผสมกับกิจการที่เราทำ

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานด้านพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองบางมด มากว่า 10 ปี ปรอ และผองเพื่อนจึงได้นำความรู้ต่าง ๆ มาช่วยกันพลิกฟื้นสภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็มให้เป็นแปลงเกษตรปลอดสาร จนสามารถปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมีขึ้นมาได้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนที่ไม่มีทักษะในด้านเกษตรมาก่อน ทั้งการลองผิดลองถูก นำทฤษฎีมาผสมกับปฏิบัติและทดลอง จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่รกร้างก็แปรเปลี่ยนเป็นสวนผักปลอดสารเคมี อีกทั้งสถานที่แห่งนี้เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้

“เราก็อยากจะเป็นต้นแบบ อยากให้ที่นี่เป็นจุดที่ทำให้คนเห็นได้ว่าการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี ปลูกแบบวิถีธรรมชาติ ปลูกแบบอินทรีย์สามารถทำได้ และสามารถดูแลคนได้ ทุกวันนี้เราดูแลสุขภาพตัวเองผ่านการกิน พวกเราที่เป็นสมาชิกในเซฟติสท์ฟาร์ม เรากินอาหารที่ปลูกเอง ชีวิตเราที่ทำตรงนี้มีความสุขมากขึ้น รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ”

จากสวนผักไร้สารเคมี สู่แหล่งเรียนรู้แห่งคลองบางมด

“เราเห็นโอกาสว่าเราปลูกผักขายอย่างเดียวคงไม่ได้เงิน เราต้องเสริมเรื่องอื่นไปด้วย ก็เริ่มไปบอกเล่า ไปเชิญชวน กศน. มาเรียนรู้งาน เชิญชวนเด็ก ๆ ในชุมชนมาเรียนรู้งาน ค่อย ๆ พัฒนาบริการไป เป็นศึกษาดูงาน มีกิจกรรมยกยอ ตกปลา ปลูกผัก เรียนรู้เรื่องหนอนแมลงวันลาย และเราเพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องคลอง ก็เลยมองว่านอกจากจะเรียนรู้ในฟาร์มแล้ว ข้างนอกยังมีระบบนิเวศเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่ามากอีกด้วย”

เซฟติสท์ ฟาร์ม ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในย่านคลองบางมด เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการพัฒนาคลังอาหารปลอดภัย พร้อมทั้งพัฒนาให้พื้นที่ฟาร์มกับชุมชนคลองบางมดเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมร่วมกับชุมชน อาทิ

  • พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวิถีคลองและสินค้าชุมชน
  • สำรวจเส้นทางเพื่อสร้างเรื่องราวร้านค้าเก่าแก่ริมคลอง
  • เชื่อมโยงวัดกับมัสยิด และศาลเจ้า
  • พัฒนาเป็นทริปท่องเที่ยวทางเรือ
  • สร้างแพ็คเกจสำหรับนักท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น

“อย่างน้อยเราขอเป็นต้นแบบก่อน ถ้าเราอยู่ได้และเป็นกิจการเพื่อสังคมได้ พวกเราก็จะสร้างมูลค่า หรือสร้างรายได้จากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เรามีบวกกับงานวิจัย ใช้เทคโนโลยีหรือใช้องค์ความรู้มาทำให้ธุรกิจไปได้ และเราก็ตั้งใจว่าจะไปช่วยเหลือชุมชน แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เราอยากให้เกิดการปรับตัวเข้าหากัน เราพยายามบอกทุกคนว่าสิ่งที่จะช่วยพัฒนาฝั่งธนและเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ คือมูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงท่องเที่ยว และวัฒนธรรมที่ต้องรักษาไว้ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางคลองเหล่านี้ ถ้าไม่รักษาไว้ ความเป็นธนบุรีจะหายไป นี่จึงเป็นคำถามที่เราต้องหาคำตอบอยู่เสมอ เป็นงานวิจัยที่เราจะต้องทำไปเรื่อย ๆ”

ความร่วมมือกันของผู้คน จะทำให้เศรษฐกิจสีเขียวของชุมชนเกิดความยั่งยืน หากชุมชนสามารถมีรายได้ที่เหมาะสมและเพียงพอจากเศรษฐกิจสีเขียวนี้จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถสร้างรายได้จากในพื้นที่ของตน รวมถึงลดความเสี่ยงในการสูญเสียคุณค่าของชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรี บนสถานการณ์ความเสี่ยงที่กำลังจะคุกคามเข้ามาในอนาคต

คลองบางมดจะเป็นอย่างไร ยังอาจไม่สามารถตอบได้ทันที เพราะต้องอาศัยความเข้าใจทั้งคนในชุมชน และคนนอกชุมชนเองที่จะขับเคลื่อนคลองบางมดไปด้วยกัน โดยเข้าอกเข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น และเห็นศักยภาพผู้คนริมคลอง

ติดต่อ
เซฟติสท์ ฟาร์ม https://www.facebook.com/safetistfarm/ 

อ้างอิงข้อมูล
– หนังสือธนบุรี มีคลอง ธนบุรี มี คลอง | Facebook
– โครงการ Green Thonburi หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
 
บทความโดย ฐิติพร มณีแสง
ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์