Beautiful Plants For Your Interior
ภาพจำของประเทศไทยตั้งแต่อดีตที่คนไทยมีร่วมกันคือ พื้นที่ที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่หุบเขา ลำห้วย สู่แม่น้ำ ลำคลอง และออกสู่ทะเลกว้าง สายน้ำจึงมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตอย่างมาก เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด
แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรที่มีเพิ่มมากขึ้น เมืองและที่อยู่อาศัยก็เจริญเติบโตตามเพื่อรองรับผู้คน การทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ หนาแน่นขึ้นบริเวณริมแม่น้ำ ก่อให้เกิดแหล่งกำเนิดน้ำเสียหลายด้าน ถึงแม้ว่าแม่น้ำจะมีความสามารถเป็น “ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียธรรมชาติ” ฟื้นฟูตัวเองได้โดยอาศัยเงื่อนไขของเวลา แต่ด้วยแหล่งกำเนิดของเสียมีมากเกินไปที่จะรองรับ ปัจจัยนี้ก็ส่งผลให้แหล่งน้ำในไทยอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม
แหล่งน้ำจืด – อยู่ในเกณฑ์ พอใช้และเสื่อมโทรม
น้ำทะเล – อยู่ในเกณฑ์ พอใช้ เสื่อมโทรม และเสื่อมโทรมมาก
“ในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทย มีคุณภาพน้ำค่อนข้างเสื่อมโทรม และเสื่อมโทรมติดต่อกันไปหลาย ๆ ปี เพราะฉะนั้นการที่เรานำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ งานวิจัยใหม่ ๆ เข้ามาบริหารจัดการ ก็จะช่วยในการฟื้นฟูแหล่งน้ำของไทยเพิ่มขึ้นได้”
ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกลุ่มจุลินทรีย์ ระบุแหล่งกำเนิดน้ำเสียในประเทศไทย (Microbial Source Tracking) สำหรับตรวจวิเคราะห์กลุ่มแบคทีเรียที่สามารถจำแนกสิ่งปฏิกูลจากแหล่งกำเนิดมลพิษเฉพาะกิจกรรม แก้ปัญหามลพิษและโรคทางน้ำ ฟื้นฟูและจัดการคุณภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ
เทคโนโลยีนี้เองจะช่วยระบุต้นเหตุของแหล่งน้ำเสียได้ โดยมีการทดลองที่แม่น้ำท่าจีน เพราะ ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งกินพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัยของชุมชน ขณะเดียวกันก็มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ไม่น้อย สาเหตุของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ จึงมาได้ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนและฟาร์มปศุสัตว์ จนเริ่มส่งผลกับคุณภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีน และปัญหาสำคัญ คือ ยังไม่มีวิธีในการจำแนกแหล่งที่มาของสิ่งปฏิกูลที่ลงมาในน้ำนั้นว่าถูกปล่อยทิ้งมาจากที่ใดบ้าง
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีพารามิเตอร์ใดที่ใช้ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำที่จะเชื่อมโยงไปสู่แหล่งกำเนิดมลพิษหรือสามารถบ่งชี้แหล่งที่มาของการปนเปื้อนกลับไปเพียงแหล่งเดียวได้ ผนวกปัญหาคุณภาพน้ำหลักมาจากการปนเปื้อนสารอินทรีย์สูง โดยมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียและแอมโมเนียร่วมด้วยในบางพื้นที่
แม่น้ำท่าจีนเขามีเอกลักษณ์ คือเป็นแม่น้ำที่ต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสายน้ำที่มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ เพราะฉะนั้นเขาจะมีเอกลักษณ์ของสายน้ำที่ไหลผ่านทั้งชุมชน เกษตรกรรม กสิกรรม พาณิชยกรรม และสุดท้ายอุตสาหกรรมด้วย
อาจารย์ขวัญรวี กล่าวถึงกรณีศึกษาลุ่มน้ำท่าจีน
มลพิษที่มองไม่เห็นในลุ่มน้ำท่าจีน
แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของประเทศ แม่น้ำท่าจีนแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอสิงห์ จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และไหลลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 325 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำท่าจีน เป็นพื้นที่ภาคการเกษตร และที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ ที่มีอยู่หนาแน่นตลอดลุ่มน้ำ จึงเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะกับงานวิจัยที่ทำการศึกษาแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีความหลากหลายเหล่านี้
จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษมานานต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี พบว่าแม่น้ำท่าจีนมีปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำท่าจีนตอนล่างซึ่งเกิดจากกิจกรรมหลากหลาย เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีชุมชนหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรหลักของประเทศ
“การทราบว่ามีการปนเปื้อนอย่างเดียวไม่พอ เราต้องการรู้ด้วยว่าแหล่งกำเนิดมาจากไหน
เพราะฉะนั้นหลักการเทคโนโลยี Microbial Source Tracking เป็นการสืบค้นแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยการใช้แบคทีเรีย ไวรัส หรือจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถบอกได้เลยว่าผู้ที่ปล่อยน้ำเสียลงมา อาจจะเป็นในกลุ่มของสัตว์ ปศุสัตว์ หรือว่าเป็นส่วนของชุมชน หรือเป็นในภาคของสัตว์เลี้ยง เป็นต้น” อาจารย์ขวัญรวี กล่าว
การวิจัยศึกษาแหล่งกำเนิดมลพิษทีมนักวิจัยต้องศึกษาพื้นที่ก่อนว่าควรเก็บตัวอย่างในรูปแบบไหน เช่น การเก็บตรงกึ่งกลางแม่น้ำหรือว่าเก็บตรงฝั่งริมตลิ่ง และต้องศึกษาเรื่องช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง เพื่อที่จะเก็บตัวอย่างได้ทันเวลาในการตรวจวัดจุลินทรีย์ทีมวิจัยต้องทำการเก็บตรงกึ่งกลางแม่น้ำลึกลงไป
ประมาณ 30 เซนติเมตรตามมาตรฐาน
มลพิษถ้าบอกความหมายอาจจะเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ปนเปื้อนลงไปในน้ำมีได้ทั้งตัวเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ งานวิจัยของเรา เราดูจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มองไม่เห็น เราต้องใช้วิธีการในห้องปฏิบัติการที่ไปตรวจวิเคราะห์ ดูในส่วนของตัว DNA หรือ RNA ของเชื้อเหล่านั้นก็จะบ่งบอกไปในลักษณะเฉพาะได้เลยว่ามีเชื้อชนิดไหน เพื่อนำไปประกอบการแก้ไขกับองค์กรต่าง ๆ เช่น การประปาและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ
อาจารย์ขวัญรวี สิริกาญจน
การตรวจวัดด้วยเทคนิคพีซีอาร์และพีซีอาร์เชิงปริมาณที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการตรวจวัดทาง DNA ของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนหรือสัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อจำแนกแหล่งกำเนิด ที่เรียกว่า MST : Microbial Source Tracking โดยวิธีการนี้สามารถติดตามหรือบ่งชี้แหล่งปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมว่า มาจากชุมชน หรือ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือมาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น นกน้ำ นกทะเล เป็นต้น ซึ่งสามารถจำแนกและประเมินแหล่งปล่อยมลพิษได้มากกว่า 1 แหล่ง
จากการเก็บตัวอย่างและนำไปวิเคราะห์ผลของแม่น้ำท่าจีน ก็พบว่าสิ่งปฏิกูลหรือน้ำเสียที่ปนเปื้อนมาจากชุมชนบ้านเรือนเป็นแหล่งกำเนิดหลัก และพบตลอดช่วงของแม่น้ำและพบเยอะขึ้นในช่วงบริเวณท้ายน้ำก่อนลงทะเลสู่อ่าวไทย มีการตรวจพบดัชนีจุลินทรีย์ที่จำเพาะกับสุกร ในเขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าถูกพัดพาจากต้นน้ำลงมายังบริเวณจุดที่ทีมนักวิจัยทำการเก็บตัวอย่าง
“ตัวอย่างของแม่น้ำท่าจีนเราพบว่าก็มีการปนเปื้อนมาในลักษณะที่สมเหตุสมผล คือในส่วนตอนบนพบการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากชุมชนค่อนข้างเยอะ และในส่วนตอนล่างนอกจากชุมชนก็จะมีสิ่งปฏิกูลจากสุกรและโคเพิ่มเข้ามา อาจสะท้อนถึงลักษณะการเลี้ยงในที่เปิด ทำให้มลพิษถูกพัดพาจากฝนและลงสู่แหล่งน้ำ ตรงนี้ก็จะเป็นข้อที่สามารถนำไปช่วยในการวางแผน บริหารจัดการในส่วนของแหล่งกำเนิดเพื่อที่เราจะลดมลพิษที่ต้นทางได้เลย”
อาจารย์ขวัญรวี กล่าว ด้วยความตั้งใจและบอกถึงปัญหาอย่างชัดเจน
ดังนั้น เมื่อได้แนวปฏิบัติในการตรวจวัดที่สามารถจำแนกแหล่งกำเนิดที่เรียกว่า MST จากงานวิจัยชิ้นนี้ กรมควบคุมมลพิษจึงได้วิธีการนำไปใช้เป็นมาตรการเสริมในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำประจำปี เพื่อช่วยในการบ่งชี้แหล่งกำเนิดมลพิษได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำและนโยบายป้องกันมลพิษทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ
อย่างไรก็ตามในส่วนของงานวิจัยเป็นกระบวนการชี้ให้เห็นถึงแหล่งที่มาของการปนเปื้อนบนเส้นทางของสายน้ำ แต่ในการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงชุมชนและผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกับน้ำ ทรัพยากรน้ำในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะฉะนั้นไม่มีใครได้ใช้น้ำที่บริสุทธิ์ใหม่ตลอด เราต้องมองให้เห็นว่าแหล่งน้ำเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน
เราทุกคนเป็นผู้ใช้น้ำ เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนทุกกิจกรรมคือแหล่งกำเนิดมลพิษ เมื่อมีมลพิษเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเศรษฐกิจ ต่อสังคม ต่อความเจริญของประเทศ ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่มาก ๆ และก็ไม่ควรที่จะเป็นความรับผิดชอบเฉพาะของผู้ที่อยู่ริมน้ำ เราอยากให้งานวิจัยของเราออกมาแล้วก็สามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ของประเทศชาติได้จริง ตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ผลักดันแรงบันดาลใจของพวกเรา
อาจารย์ขวัญรวี กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
อ้างอิงข้อมูล
โครงการการพัฒนาวิธีการจำแนกแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยกลุ่มแบคทีเรีย กรณีศึกษา ลุ่มน้ำท่าจีน (Development of Microbial Source Tracking Method: A Case Study of Tha Chin River Basin)
และบทสัมภาษณ์ ดร.ขวัญรวี สิริกาญจน นักวิจัยเชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์