Beautiful Plants For Your Interior

ไม้พาย สายน้ำ และการกลับบ้านของ “กิ๊ง Sweeep SUP House”

“ในวันนึงขอแค่ได้รับแรงกระเพื่อมจากน้ำ เราก็ดีใจแล้ว” หญิงสาวในชุด Wetsuit พูดด้วยรอยยิ้ม ในขณะที่เธอมองไปยังสายน้ำแม่กลองที่กว้างใหญ่ “บางทีการเห็นสายน้ำกว้างๆ ก็เหมือนได้เติมพลังค่ะ”

“กิ๊ง” หรือ “นวพร มากู่” หญิงสาวที่เติบโตในอัมพวา แม้เธอจะเรียนมาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การตัดสินใจมาเปิดธุรกิจพายเรือซับบอร์ดล่องแม่น้ำในชื่อ Sweeep SUP House ที่จังหวัดสมุทรสงครามบ้านเกิดอย่างจริงจัง ก็สร้างความแปลกใจว่า ทำไมเธอจึงเลือกเดินในเส้นทางของสายน้ำและตัดสินใจกลับบ้านแทนที่จะเติบโตเป็นวิศวกรในบริษัทใหญ่โตของเมืองหลวง

“เรากลับมาอยู่ที่แม่กลอง ที่บ้านทำธุรกิจค้าขาย แต่พอกลับมาแล้วในคลองไม่มีคลื่นให้เล่นเซิร์ฟเหมือนในทะเล แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังพายซับบอร์ดได้ ก็เลยไปเรียนจริงจัง และมาเปิดเป็นธุรกิจ”

จากสาวเซิร์ฟบอร์ดที่ต้องโต้คลื่นทะเลสีครามกลายมาเป็นการพายซับบอร์ดล่องแม่น้ำ แม้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ได้ลดความท้าทายลงแม้แต่น้อย เพราะสภาพแวดล้อมของแม่น้ำแม่กลองนั้นก็มีความผัวผวนสูง และต้องอาศัยความช่างสังเกตเพื่อเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับสายน้ำ

การมีชีวิตติดสายน้ำ สิ่งนี้ช่วยเสริมความหลงใหลต่อธรรมชาติที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต บวกกับพลังงานที่ล้นเหลือที่กิ๊งอยากจะลงมือทำอะไรบางอย่างร่วมกับชุมชนที่เธอมีความผูกพันธ์ตั้งแต่ครั้นยังเด็ก

“เรามองว่าสมุทรสงคราม ไม่ได้เป็นทั้งเมืองอุตสาหกรรมหรือเป็นเมืองพักผ่อนยอดนิยมสำหรับคนไทยขนาดนั้น  เพราะเราอาจจะ ไม่ได้มีทั้งภูเขา ไม่ได้มีเกาะ หาดสวย ๆ หรือทะเลที่มีปะการัง แต่สมุทรสงครามก็ยังมีธรรมชาติที่เคียงคู่กับวิถีชีวิตของผู้คน นี่คือสิ่งที่เรามีและโดดเด่นที่สุด มันคือ วิถีชีวิตริมน้ำ”

ธุรกิจของกิ๊งอาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งกิจกรรมออกกำลังกายและการออกสำรวจวิถีชีวิตของผู้คนในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเป็นคนชอบเล่นกีฬาทางน้ำ และผูกพันกับช่วงเวลาในวัยเด็กที่เติบโตในบ้านคุณยายในย่านอัมพวา  เมื่อถึงเวลาพอเหมาะเธอจึงเปลี่ยน Passion เป็นแผนธุรกิจ เป็นกิจการ Sweeep SUP House ธุรกิจให้บริการเช่าซับบอร์ด หรือกระดานโต้คลื่น พายเรือทำกิจกรรมลัดเลาะไปตามชุมชนริมน้ำที่อัมพวา มีคลาสสอนสำหรับผู้เริ่มต้น เทคนิคการพาย การรักษาความปลอดภัย และในบางครั้งก็มีการจัดโปรแกรมพิเศษ อย่าง โยคะบนซับบอร์ด

แน่นอนว่าเมื่อกิจกรรมส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บนน้ำ จึงหลีกเลี่ยงความแปรปรวนของธรรมชาติไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่น้ำลดกลายเป็นดินเลน จนไม่สามารถทำกิจกรรมทางน้ำได้เหมือนปกติ ไม่สามารถเปิดสอนคลาสได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุกปีในเดือนสิงหาคม แต่นั่นเองก็เป็นธรรมชาติของสายน้ำของอัมพวา

เปิดพื้นที่ใหม่ให้อัมพวา ชะลอเวลาชีวิตให้ช้าลง

ภาพจำของอัมพวาที่ทุกคนมี คือตลาดน้ำที่มีของกินอร่อย วางขายเป็นแนวยาวตามชุมชนริมน้ำจนเป็นเสน่ห์ของพื้นที่ อัมพวาจึงเป็นจุดหมายทริปสั้น ๆ สำหรับขากินขาเที่ยวที่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก ทำให้ชาวเมืองจำนวนมากอยากจะมาลงหลักปักฐาน เป็นเจ้าของธุรกิจ เปิดรีสอร์ทที่พัก และร้านอาหารที่เกี่ยวกับตลาดน้ำยามเย็น

การหันมาจับธุรกิจนำเที่ยวด้วยการพายซับบอร์ดลัดเลาะไปตามชุมชนของกิ๊ง จึงเปรียบเสมือนการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับอัมพวา ผ่านการจัดทริปท่องเที่ยวด้วยการให้คนที่รักการผจญภัยหันมาจับไม้พาย ล่องซับบอร์ดไปตามสายน้ำ ได้เปลี่ยนที่เที่ยวจากเที่ยวบนบกเดินตลาด ลงมาเที่ยวในสายน้ำแทน เป็นการมองอัมพวาจากมุมมองใหม่ ด้วยสายตาของคนที่อยู่บนแม่น้ำทำให้การลิ้มรสบรรยากาศรอบตัวได้รสชาติใหม่

โดยเฉพาะรสชาติจากการได้ลงไปสัมผัสกับคนในพื้นที่จริงๆ อย่างการจัดทริปพายซับบอร์ดเข้าไปตามร่องสวนผลไม้ หรือการพาไปดูการทำเตาตาล นอกจากการซึมซับวิถีชีวิตที่ความหลากหลายแล้ว ยังทำให้คนนอกได้ใกล้ชิดกับแม่น้ำมากขึ้น เหมือนได้เปิดเส้นทางใหม่ๆ ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการเสพสุนทรียะ และได้ตกตะกอนความคิดอะไรบางอย่างระหว่างการพายเรือหรือในที่นี้คือซับบอร์ด เพราะห้วงเวลาที่เราจับฝีพายอยู่บนสายน้ำ เวลาดูเหมือนจะเดินช้าลง เมื่อเทียบกับการนั่งเรือแล้วให้คนขับเรือนำทางเราไป

“สมมุติเรานั่งเรือผ่านต้นไม้ต้นหนึ่ง เราจะเห็นต้นไม้ครึ่งวินาที แต่กว่าเราจะพาย เราจะเห็นต้นไม้ต้นนี้ล่วงหน้าตั้งแต่ 1 นาทีที่แล้ว 5 นาทีที่แล้วก่อนเราจะผ่านต้นไม้ต้นนั้นด้วยซ้ำ และกว่าที่เราจะเคลื่อนผ้านต้นไม้ต้นนี้ ทำให้เรามีเวลาใส่ใจในรายละเอียด  คือเรามองมันได้นานขึ้น เห็น อะไรต่างๆมากขึ้น คนที่มาก็จะได้เห็นอะไรที่เยอะขึ้น เขาได้ซึมซับสิ่งรอบตัว และได้เรียนรู้ ต่อให้เขาเห็นขยะ เขาก็จะมีเวลาให้คิด ถึงเรื่องต่าง ๆ เยอะขึ้น”

ชีวิตริมน้ำที่มาพร้อมกับ “ขยะ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำ สิ่งที่เราไม่สามารถปิดตาข้างเดียว แล้วแกล้งมองไม่เห็น นั่นก็คือเรื่องของขยะที่ลอยมาตามบ้านเรือน เป็นปัญหาคลาสสิกที่กิ๊ง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่กลับมายังสายน้ำที่ตนเองผูกพันธ์ มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ตะหนักจริงๆ ว่าแม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าบ้านนั้นมีประโยชน์ เพราะหากแม่น้ำที่เขาอาศัยอยู่สะอาด ก็จะนำมาซึ่งโอกาสอื่น ๆ อีกมากมาย

ทำให้กิ๊งมองบทบาทของธุรกิจนำเที่ยวของตน ต้องเป็นมากกว่าการเปิดประสบการณ์คนนอกที่เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต แต่จะต้องเพิ่มความยั่งยืนให้กับแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อทำให้คนในชุมชนริมน้ำได้มองเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนว่า หากรักษาคุณภาพของแม่น้ำให้ดี สายน้ำที่หล่อเลี้ยงเขาก็จะกลับมามอบคุณค่าบางอย่างให้กับชีวิตเขาเช่นเดียวกัน

การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง ผ่านการสร้างเครือข่าย ในการเปิดเส้นทางตามคลองต่างๆ อย่างทริปล่าสุดที่บางสะแก ที่ได้นำองค์กร รวมถึงสถาบันการศึกษาลงไปดูงานตามชุมชนริมน้ำที่มีการขุดลอกคลอง ดูแลแหล่งน้ำกันเป็นประจำ พร้อมกับสนับสนุนเม็ดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน ทำให้เกิดการพัฒนา เรียนรู้คนชุมชน รู้ว่าคนในชุมชนต้องการอะไร เขาอยากนำเสนออะไร และทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำได้รู้สึกจริงๆ ว่าถึงเวลาที่ตนต้องอนุรักษ์แหล่งน้ำกันอย่างจริงจังแล้ว เพราะมีคนเข้ามาให้แหล่งน้ำมากขึ้น

“เรารู้สึกว่าที่เรามาเปิดทริป เพราะเราอยากให้ คนมาพายกันเยอะๆ อยากให้ที่นี่เป็นที่ ที่คนมาใช้ออกกำลังกาย อยากให้คนพาย พายไปแล้วมีการทักทายกันเยอะๆ พอคนที่ไม่ได้พาย เห็นคนมาใช้แม่น้ำหน้าบ้านเขา เขาก็ต้องรู้สึกอยากรักษาแม่น้ำให้สะอาดบ้างแหละ ถ้าทิ้งขยะเต็มหน้าบ้านน่าจะเขินบ้าง ซึ่งการที่คนมาใช้น้ำกันเยอะๆ มันก็จะนำไปสู่การพัฒนา คือคนอยู่ตรงไหน การพัฒนามันก็อยู่ตรงนั้น”

การได้กลับมาอยู่กับสายน้ำที่ตนคุ้นเคยมาแต่วัยเยาว์ เป็นเหมือนการได้ทบทวนความหมายและคุณค่าของแม่น้ำอีกครั้ง สายน้ำที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน แต่เป็นทรัพยากรที่มีความหมายต่อทุกสรรพสิ่ง หากมีการอนุรักษ์แหล่งน้ำให้มีความยั่งยืน โอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนก็จะวกกลับมาสู่คนในพื้นที่

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ นวพร มากู่ ผู้ประกอบการ Sweeep SUP House