Beautiful Plants For Your Interior

หรือต้องรอให้ถึงตอนอวสานของ “หอยแครงบางตะบูน”

          สมัยก่อนหากถามถึงเหล่านักชิมที่ชื่นชอบอาหารทะเล เมื่อได้ยินคำว่า “บางตะบูน” ก็จะได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “หอยแครงบางตะบูน” เป็นสุดยอดเมนูหอยที่มีรสชาติยอดเยี่ยม ขนาดตัวใหญ่ รสหวาน เนื้อหอยไม่อมดิน ทานได้เป็นกิโลก็ยังไหว และมีราคาไม่แพง เพราะประมงพื้นบ้านบางตะบูนเป็นผู้เลี้ยงด้วยตนเอง  ใครได้แวะเวียนไปบางตะบูน ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ก็จะต้องไม่ลืมแวะทานหอยแครงขึ้นชื่อของที่นี่ด้วย

          แต่ปัจจุบันสถานการณ์หอยแครงบางตะบูน และหลาย ๆ บริเวณอ่าวรูปตัว ก. เริ่มประสบวิกฤตในการทำฟาร์มหอย ผลผลิตที่ได้น้อยมากจนไม่คุ้มลงทุน หนำซ้ำยังต้องนำเข้าหอยมาจากพม่าเพื่อทดแทนความต้องการในประเทศ ด้วยเหตุนี้หอยแครงจึงกลายเป็นหนึ่งในอาหารที่มีราคาแพง ซึ่งผู้เลี้ยงหอยแครงบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เผยว่า ปัจจุบันเหลือพื้นที่เลี้ยงหอยไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และผลผลิตก็ลดลงเกือบ 10 เท่า เพราะปัญหามลพิษที่สะสมในดินและในน้ำ

"กระเตงหอยของที่นี่ ไม่มีบันไดขึ้นแล้ว ล้วนเป็นกระเตงที่ทิ้งร้างไม่มีคนดูแล เท่ากับว่า ไม่มีคนทำฟาร์มหอย ลองคิดดูว่าเมื่อก่อนเลี้ยงได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ตอนนี้เป็นเพียงสุสาน เป็นเพียงอนุสรณ์"

          พี่เฉลิมเกียรติ ไกรจิตต์ ประธานกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยแครงบางตะบูน ที่ผันตัวมาทำร้านอาหารทะเล พาพวกเรานั่งเรือประมงไปชมกระเตงหอยร้างที่ยืนหยัดสู้กระแสน้ำและเกลียวคลื่น กระเตงเหล่านี้ถูกสร้างด้วยวัสดุค่อนข้างแข็งแรง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พวกมันยังคงทรงตัวกลางทะเลอยู่ได้ แม้จะไม่มีการทำฟาร์มหอยมานานหลายปี

          ปริมาณผลผลิตหอยแครงก็น้อยลงเรื่อย ๆ จากเมื่อปี 2558 ปริมาณหอยแครง 900 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ขณะนี้อยู่ที่ 125 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ  ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก อีกทั้งผลผลิตหอยแครงที่ได้ก็มี ขนาดตัวเล็กมาก เพราะเกษตรกรไม่อยากเสี่ยงเลี้ยงต่อให้โต ซึ่งอาจทำให้หอยตายได้ทุกเมื่อ

“คนก็บ่นมาตลอด ว่าทำไมหอยตัวมันเล็กจัง เมื่อก่อนเคยกินใหญ่กว่านี้ ผมบอกเลยว่า เลี้ยงให้โตกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันเสี่ยงมาก ๆ ที่หอยจะตาย แล้วที่เราลงทุนไปจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย บางทีตัวเล็กมาก ๆ ตลาดก็ไม่รับซื้อ ก็ต้องหอบไปขายที่กัมพูชา เพราะที่นั่นเขายังรับซื้ออยู่”

สวรรค์ล่มของหอยแครง

          พื้นที่อ่าวบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำและแหล่งเลี้ยงหอยแครงที่สำคัญของประเทศไทย แต่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อ่าวบางตะบูนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ผนวกกับการเป็นพื้นที่ปากอ่าวที่มี แม่น้ำ 2 สาย มาบรรจบกัน คือ “แม่น้ำเพชรบุรีและลุ่มน้ำแม่กลอง” ที่ตลอดเส้นทางน้ำ มีการทำเกษตรกรรม มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มเลี้ยงสุกร และอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ก่อตัวหนาแน่นชุกชุม

          การเลี้ยงหอยแครงที่ทำมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปีในพื้นที่อ่าวบางตะบูน ได้ประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา พบการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชบ่อยครั้ง น้ำมีการปนเปื้อนของสารอาหารสูง และเกิดภาวะความผันผวนของระดับออกซิเจนในน้ำ ตลอดจนเกิดการสะสมของซัลไฟด์ในดินพื้นท้องน้ำที่ระดับสูงมาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวท้าให้เกิดปัญหาต่อการเจริญเติบโตของหอยแครงที่หว่านไว้และยากต่อการวางแผนจัดการการเลี้ยงเพื่อให้คุ้มค่าและยั่งยืน

หอยแครงอยู่ไม่ไหว แต่หอยอื่นยังพออยู่ได้

          พื้นที่บางตะบูนเป็นแหล่งเลี้ยงหอยหลายชนิด โดยเฉพาะ หอยแครง หอยแมลงภู่ และหอยนางรม โดยพื้นที่ในรัศมี 7 กิโลเมตรแรกเป็นพื้นที่เลี้ยงหอยแครง เพราะมีลักษณะอยู่ในพื้นที่ดอนตื้น ถัดออกไปคือพื้นที่เลี้ยงหอยนางรม และหอยแมลงภู่ ผลผลิตหอยทั้งหมดมีปริมาณลดลงทุกปี แต่เกษตรกรชาวบางตะบูนยังพอทำฟาร์มหอยนางรมและหอยแมลงภู่อยู่ได้บ้าง ในขณะที่หอยแครงนั้นได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

“เราเคยได้ยินว่าปลาทูในอ่าวไทยนั้นลดลง แต่เพราะปลาทูมันว่ายหนีไปที่อื่นได้ ตรงกันข้ามกับหอย พวกมันหนีไปไหนไม่ได้ ถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงในบริเวณ หอยก็ตายอย่างเดียว พวกผมซื้อลูกหอยไปหว่านในฟาร์ม จริง ๆ คือเงินคือทองทั้งนั้นที่หว่านลงทะเล บางทีก็พูดประชดกันว่า เอาหอยไปทิ้งกัน เพราะมันเป็นธุรกิจที่ต้องเสี่ยงดวงพอสมควร”

          ในอดีตบางตะบูน คือพื้นที่เลี้ยงหอยแครงที่เป็นรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จัดสรรพื้นที่ในรูปแบบของการสัมปทานโดยแบ่งพื้นที่ตั้งแต่ทางตอนเหนือของอำเภอบ้านแหลมไปจนถึงปากแม่น้ำเพชรบุรี  ซึ่งพื้นที่ในทะเลถูกกั้นเป็นคอกเลี้ยงหอยแครง โดยผู้เลี้ยงจะต้องขอสัมปทานการใช้พื้นที่ทางทะเลจากกรมประมง แล้วลงทุนไปซื้อลูกหอยแครงมาปล่อย ลูกหอยแครงส่วนใหญ่มาจากทางภาคใต้ ชาวบ้านเรียกว่า “หอยแครงมาเลเซีย” การเลี้ยงในรูปแบบนี้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก แต่ให้ผลผลิตดี เวลาเก็บผลผลิตจะใช้เรือคราดหอยแครงเป็นอุปกรณ์ในการเก็บหอยแครง ทำให้เก็บได้เร็ว ได้เงินมาก เก็บหอยได้หมดก็ไปซื้อลูกหอยแครงมาปล่อยใหม่ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

“แต่ตอนนี้ผมซื้อลูกหอยแครงก็ต้องไปกู้ยืมธนาคารบ้าง ครั้งละสี่แสนหรือห้าแสนบาท ไปซื้อลูกหอยจากทางใต้ มันเป็นการลงทุนที่มากโข ทั้งการขนส่ง ค่าเดินทาง ระหว่างทางหอยก็อาจตายอีก กว่าจะปล่อยลงสู่ทะเลได้ เหมือนเงินค่อย ๆ หายไปทุกนาที”

ปัญหาจากสายน้ำ สู่ท้องทะเล

          น้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตชาวบางตะบูน มี 2 ปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงคือ ปริมาณน้ำกับคุณภาพน้ำ ดังนั้นอาชีพหลักของคนในชุมชนคือการทำประมงถึง 70% ซึ่งล้วนประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยพื้นที่บางตะบูนได้รับน้ำจาก เขื่อนแก่งกระจาน จ. เพชรบุรี เป็นน้ำต้นทุน ซึ่งมีการจัดสรรโดยเขื่อนเพชรบุรีให้กับเกษตรกรชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง และได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำ 2 สาย สายหนึ่งคือแม่น้ำเพชรบุรีโดยตรง อีกสายหนึ่งคือลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ทั้งสองลุ่มความแตกต่างของน้ำแตกต่างกัน

          ขณะเดียวกันอ่าวบางตะบูนแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยอินทรีย์วัตถุจากตะกอนดิน แต่ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารที่ดีหรือของเสียเมื่อลงสู่แม่น้ำแล้วก็จะมาผสมร่วมกันบริเวณปากแม่น้ำ โดยแฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน อ่าวแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งรองรับของเสีย ทั้งจากแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำกลองจากจังหวัดสมุทรสงคราม และหากพื้นที่ต้นน้ำมีการปล่อยน้ำาเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำฟาร์มสุกร และน้ำเสียจากครัวเรือน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องมากองรวมกันบริเวณปากแม่น้ำา ทำให้ผู้ที่อยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำา โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน และผู้เพาะเลี้ยงหอยมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเดือนร้อนจากสารพิษดังกล่าวเช่นกัน และจะทำให้หอยแครงตายในช่วงฤดูเก็บผลผลิต คือ ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูน้ำหลากฝนตก ทำให้สภาพน้ำมีความผันผวนสูง

อนาคตหอยบางตะบูน

          แม้อนาคตอาจจะยังไม่มีความแน่นอนของจำนวนประชากรหอย แต่กลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครงยังคงรวมตัวกันเพื่อรวบรวมข้อมูลคุณภาพน้ำ โดยวัดค่าคุณภาพน้ำเบื้องต้นจากเครื่องแบบพกพาจุ่มหัววัดลงในน้ำ ใช้แผนที่ GIS เพื่อจับตาการเปลี่ยนของกระแสน้ำ และกำหนดจุดบริเวณริมแม่น้ำที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและฟาร์มหมูชุกชุม รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อใลที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ นี่เองที่ทำให้คนเลี้ยงหอยในวันนี้ ต้องกลายเป็น “นักวิจัยท้องถิ่น” ไปในตัว

“ผมปล่อยแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะขนาดแค่รุ่นเรา สภาพแวดล้อมยังแย่ขนาดนี้ คนรุ่นต่อไปจะเผชิญหน้ากับอะไรที่หนักหนากว่านี้มาก ถึงวันหนึ่งหอยแครงก็อาจสูญพันธุ์ก็เป็นได้ และไม่มีหอยบางตะบูนอีกแล้ว” 

          เรื่องของหอยจึงเกี่ยวพันทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ผูกพันกันอย่างแนบแน่น หากคาดเสาหลักใดไป ความกินดีอยู่ดีของผู้คนอาจสะดุด

“ผมให้เลือกว่า จะกินหอยกิโลละ 50 บาท หรือจะกินหอยกิโลละ 200 บาท คำถามง่าย ๆ แค่นี้เอง ถ้าเราไม่อยากจ่ายมาก มันก็ถึงเวลาที่ต้องดูแลสภาพแวดล้อมแล้ว”

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ เฉลิมเกียรติ ไกรจิตต์ ประธานกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยแครงบางตะบูน

ขนิษฐา บัวแก้ว และ จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผลกระทบจากการเลี้ยงหอยแครงต่อการเปลี่ยนแปลงตามเวลาของสัตว์พื้นท้องน้ำอ่าวบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี (2015)