Beautiful Plants For Your Interior

“คนเล่นเรือ” หากมีสายน้ำ ก็ยังมีทางให้ไปเสมอ

เรือ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน คนไทยยังคงใช้เรือกันเป็นกิจวัตร และบ้านเรือนนิยมปลูกหันหน้าตามแนวแม่น้ำมาแต่ครั้งโบราณ น้ำจึงสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับเรือได้อย่างชัดเจน

แม้คำว่า เรือ จะเป็นแค่คำเดียวสั้น ๆ แต่สำหรับแต่ละคนนั้นมีความหมายและจุดประสงค์อาจแตกต่างกันออกไป เพราะเป็นทั้งพาหนะที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนและสินค้า เป็นพาหนะใช้ในประเพณีทางน้ำ อย่าง เช่น การแข่งเรือยาว ชักพระรับบัว แสดงถึงผู้คนมีชีวิตผูกพันกลมกลืนกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน

แต่ทว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเมือง วิถีชีวิตของคนกับเรือก็เริ่มเลือนหายไป การสัญจรทางน้ำถูกลดบทบาทลง จึงเหลือคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ยังคงใช้เรือในชีวิตประจำวัน

“ต้องย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ได้ขับเรือครั้งแรก เรารู้สึกสนุกและเพลิดเพลิน เรือทำให้อยากออกสำรวจไปไกลขึ้น มันคือมีความอิสระบนสายน้ำอย่างแท้จริง”

คลองบางมด ยังคงวิถีชีวิตของชาวเรือให้เห็น คลองแห่งนี้ยังมีผู้คนใช้เรือนานาชนิดในการเดินทาง แม่ค้าใช้เรือติดเครื่องยนต์เร่ขายอาหารหรือพืชผักผลไม้ คนคลองที่พายเรือเดินทางไปยังวัดริมน้ำ และพระที่บิณฑบาตทางเรือในตอนเช้า รวมไปถึงนักเดินทางที่ชื่นชอบในการสำรวจด้วยการล่องเรือ คลองบางมดยังมีเส้นทางคลองสายเล็ก ๆ ที่ต้องเข้าด้วยเรือขนาดเล็กเท่านั้นก็เป็นสีสันของประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งในกรุงเทพฯ

“เมื่อเราพายเรือไปถึงจุดหนึ่ง เราอยากให้คนได้มาเห็นสิ่งที่เราเห็นบ้าง บางพื้นที่เดินทางด้วยรถยนต์คงไม่ได้เจอแน่ วิธีไปที่ดีที่สุดคือการพายเรือ พายเรืออย่างช้า ๆ ค่อยๆให้ สิ่งรอบตัวผ่านสายตา ผมจึงทำธุรกิจพายเรือคายัคในคลองบางมด อยากให้คนได้มาพบธรรมชาติ และใกล้ชิดวิถีชีวิตผู้คนริมคลอง”

ยอดฝีมือช่างที่แอบใต้ทางด่วน

เมื่อถึงเวลาต้องเดินทาง คนริมคลองมักจะใช้เรือลำขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เช่น เรือแปะ เรือโปง และเรือสำปั้น ใช้สัญจรไปมาที่ใช้แรงออกพายแต่ถ้าต้องเดินทางไปในที่ไกลขึ้นและบรรทุกข้าวของจำนวนมาก ก็มักจะใช้เรือที่ติดเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเรือที่เป็นที่นิยมมากในย่านคลองบางมด คือ เรือป๊าบ

สำหรับเรือแปะ และเรือป๊าบจะเป็นเรือต่อ มีส่วนหัวและท้ายเรียว ส่วนกลางกว้าง ท้องเรือค่อนข้างแบน เรือป๊าบจะมีขนาดยาวตั้งแต่ 3 วา (6 เมตร) ขึ้นไป ส่วนเรือแปะจะเป็นรูปทรงเหมือนกัน แต่จะมีขนาดเล็กลงมา

ในสมัยก่อนเกษตรกรที่ต้องดูแลสวนยกร่อง เช่น สวนส้ม สวนมะพร้าว จะพายเรือขนาดเล็กไปตามท้องร่อง เพื่อรดน้ำต้นไม้และเก็บผลไม้ไปขาย จะเป็นเรือที่มีลักษณะเหมือนเรือแปะ แต่สั้นกว่า คือยาวประมาณ 8 ศอก (2 เมตร) เพื่อให้สามารถแล่นและกลับลำในท้องร่องได้

นอกจากเราจะเป็นคนใช้เรือแล้ว ก็จะต้องบำรุงรักษาเรือด้วยเช่นกัน ในคลองบางมดเองก็มีอู่ซ่อมเรือจะเรียกว่า “อู่ลับ” ก็ได้ เพราะซ่อนตัวอยู่ใต้ทางด่วน โดยเป็นฐานบัญชาการต่อเรือของ 2 พี่น้อง ชื่อว่า “อู่สยามชัย” โดยคนพี่ชื่อ “ช่างอี้ “ จะเป็นคนที่นำเรือที่ผ่านการใช้งานมาซ่อมใหม่ เป็นงานฝีมืออย่างแท้จริง สามารถแปลงโฉมเรืออายุ 30 ปี ให้กลายเป็นเรือใหม่ที่มีราคาสูงขึ้นได้

“เรือหนึ่งลำมีกลไกมีเยอะมาก งานซ่อมเรือไม่ใช่งานที่ง่ายเลย สมัยก่อนบางมดมีเรืออยู่เยอะมาก ผมกับน้องชายได้ต่อเรือทุกชนิด ตอนนี้เรือที่คลองบางมดเหลือน้อยมาก ถึง 10 เปอร์เซ็นหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ”

ในส่วนคนน้องชื่อ “ช่างอ้วน” เป็นช่างต่อเรือใหม่กำลังเป็นที่นิยมมาก คือ เรือสองตอน หรือรู้จักกันในหมู่นักเล่นเรือว่า “เรือซิ่ง” ใช้สำหรับการแข่งขันเรือเร็วประเภทเรือสองตอน ที่มาจากวิถีชีวิตของคนริมน้ำผสมผสานภูมิปัญญาการต่อเรือ เพื่อพัฒนามาเป็นกีฬาทางน้ำที่มากกว่าแค่ประลองความเร็ว แต่เป็นตัวแทนของศักดิ์ศรีไปจนถึงความภาคภูมิใจในตัวตนของชุมชนชาวเรือในสังคมเมืองที่สังคมส่วนใหญ่ หันหลังให้กับแม่น้ำลำคลอง

“เรือทุกลำเราออกแบบเอง จะออกแบบให้ทรงเรือเป็นแบบไหน แต่ละอู่ไม่เหมือนกัน มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง เรือซิ่งของอู่สยามชัยต้องมีความบาง อ่อนช้อย และแข็งแรงด้วย”

เรือเป็นสิ่งที่สะท้อนในงานเชิงช่าง แต่ละอู่ก็จะมีการรังสรรค์เรือที่แตกต่างกัน ให้สอดคล้องกับน้ำแต่ละพื้นที่ ตามประโยชน์ของการใช้งาน และความวิจิตรของแต่ละช่างด้วย การสร้างเรือแต่ละลำจึงต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน และยังคงพัฒนาฝีมือต่อไปเรื่อย ๆ

“เราทำเรือลำแรก ๆ ก็ออกมาไม่สวยงามหรอก แต่เราพัฒนาฝีมือมาตลอด ไม้มีเหลี่ยมมีคมก็ต้องลูบให้หมด ให้มันจับแล้วไม่สะดุดมือ เขามองเห็นเรือเราสะอาดตาเขาก็ชอบ คนก็บอกต่อกันไปเรื่อย ๆ”

แพตายืน พิพิธภัณฑ์เรือที่มีชีวิต

ที่คลองบางมดยังมีตลาดเรือที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ คือแพของตายืน อาจจะไม่ใช่เรือนแพคุ้นตาที่ต่อด้วยท่อนไผ่ หากเป็นร้านค้าริมน้ำมีการค้าตั้งแต่ของชำ ไปจนถึงอู่ซ่อมเรือ ที่นี่เป็นโกดังเก็บเรือกว่า 300 – 500 ลำ แพนี้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับมัสยิดดาริ้ลหะซัน หรือมัสยิดสอนสมบูรณ์ เนื่องด้วยตายืนเป็นคนที่รักเรือเป็นชีวิตจิตใจ ชอบที่จะซื้อสะสมเรือ จนปัจจุบันนี้ทำธุรกิจซื้อขายเรือและเป็นที่รู้จักของคนย่านแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ไปจนถึงสามพราน อัมพวา โกดังเรือของตายืนมีเรือที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ และแบ่งแยกชนิดเรือต่าง ๆ ไว้ เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เรือที่มีชีวิต

“ทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิถีของชาวคลอง จะอยู่ที่แพตายืนหมด แล้วความพิเศษคือนอกจากเราจะได้ความรู้ ในเรื่องราวของเรือและก็วิถีชาวคลองจากตายืนแล้ว เราสามารถซื้อกลับไปได้ด้วย อันนี้เป็นเสน่ห์”

แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน การเดินทางของเรือดูจะไม่มีวันสิ้นสุด เรือไม้ลำเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ก็สามารถเป็นมรดกประจำตระกูล ไว้ให้พ่อแม่เล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษให้ลูกหลานฟัง แล้วเรือก็จะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนริมคลองตลอดไป

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ สนธยา เสมทัพพระ (น้าโบ๋)     ผู้ประกอบการบ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์
บทสัมภาษณ์ ชาติ กลิ่นหอม (ช่างอี้)     เจ้าของอู่ต่อเรือสยามชัย
บทสัมภาษณ์ วิชัย กลิ่นหอม (ช่างอ้วน)     เจ้าของอู่ต่อเรือสยามชัย