Beautiful Plants For Your Interior

พรรณไม้ใต้สายน้ำเพชรฯ: การสำรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีของทีมวิจัยคณะประมง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติโดยรวม เช่นเดียวกับระบบนิเวศของแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในหลายทศวรรษ ระบบนิเวศของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงได้ไปทีละนิดในแต่ละวันโดยที่มนุษย์เราไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่เราสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำได้ชัดเจนยิ่งกว่า งานวิจัยศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อน (Dam-induced changes) ต่อสภาพแวดล้อมของแม่น้ำด้วยวิธีการวิเคราะห์หาปริมาณการเกิดซ้ำการไหลของแม่น้ำ (Recurrence quantification analysis; RQA) พบว่าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้นเปลี่ยนพลวัตของการไหลของแม่น้ำ เพียงค่หนึ่งทศวรรษวิธีการเคลื่อนที่ของน้ำในแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังการสร้างเขื่อนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการสร้างเขื่อน (Kędra 2023) ดังนั้นกิจกรรมของมนุษย์บนสายน้ำเป็นอีกผลกระทบหนึ่งที่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ และการไหลของสายน้ำในแม่น้ำจากการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจำนวนมากเฉกเช่นในทุกวันนี้

แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักในประเทศไทยที่ไหลผ่านจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ พันธุ์พืชและสัตว์หลากหลายชนิดตามริมฝั่งและในเขตชายฝั่งโดยรอบ ทีมวิจัยภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาและสำรวจพื้นที่ต้นน้ำเพชรในเขตเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ในปี พ.ศ. 2550) จนถึงการสำรวจพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรีตอนกลาง และตอนล่างสุดที่ไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณบ้านแหลมและปากแม่น้ำอ่าวบางตะบูน (ในปี พ.ศ. 2551-2559) ต่อมาได้ตีพิมพ์ผลงานในชื่อสายน้ำเพชร สายน้ำแห่งชีวิต: บันทึกงานวิจัยจากพะเนินทุ่งสู่อ่าวไทย (2559) เป็นผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมทางน้ำตั้งแต่ต้นไปถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ หนึ่งในทีมวิจัยฯ กล่าวถึงความพิเศษเกี่ยวกับแม่น้ำเพชรบุรี

จารุมาศ เมฆสัมพันธ์

“จุดเด่นที่สำคัญของแม่น้ำเพชรฯ เป็นแม่น้ำที่ใสมากเมื่อเทียบกับแม่น้ำแทบจะทุกแห่งในโครงสร้างของแม่น้ำในไทย ลำห้วยตามภูเขาต่างๆเป็นนั้นจุดเด่นที่สำคัญ แล้วอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเราไปอ่านงานเรื่องแม่น้ำเพชรฯ เราจะรู้ว่าแม่น้ำเพชรเป็นหนึ่งแม่น้ำ 1 จังหวัด หมายถึงเป็นแม่น้ำที่เกิดขึ้นและจบในจังหวัดเดียว ฉะนั้นพอเรามองในเชิงของการจัดการนั้นมีความหมายที่จะสามารถสร้างเป็นตัวอย่างในการทำงานที่จัดการภายในระบบให้จบและดีขึ้นได้ เพราะว่าสามารถดูแลโดยที่ไม่ต้องไปอ้างว่าคนนู้นทำคนนี้ทำอะไรอย่างนี้ เป็นหนึ่งแม่น้ำหนึ่งจังหวัดที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำเพชรฯ เพิ่มขึ้น”

งานวิจัยว่าด้วยสายน้ำเพชรฯ สายน้ำแห่งชีวิต

คุณภาพน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี จากผลการสำรวจของทีมวิจัยในช่วงปีพ.ศ. 2552-2559 ถึงพบว่า ออกซิเจนละลายน้ำที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อลิตร หมายความว่ามีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับดีถึงดีมาก (จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ 2559, น.32) นอกจากนั้นลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลแรง โดยส่วนใหญ่มีความเร็วน้ำมากกว่า 30 เซนติเมตรต่อวินาที ระดับน้ำไม่ลึกมากและมีความลาดชันสูงมาตลอดทั้งระยะทาง มีบางพื้นท่ีและบางช่วงเวลาท่ีปริมาณออกซิเจนลดลงเนื่องจากการรับมวลน้ำใต้เขื่อนและกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวพบว่าปริมาณออกซิเจนก็จะเพิ่มกลับขึ้นมาได้ในเวลาไมน่านด้สนกระบวนการของผู้ผลิตขั้นต้น ในระบบที่ผลิตออกซิเจนได้ดีอย่างพรรณไม้น้ำซึ่งพบหนาแน่นสูงสุด ถึงมากกว่า 700 กรัมต่อตารางเมตร พรรณไม้น้ำขึ้นกระจายอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดระยะทางในแม่น้ำเพชรบุรี

แม่น้ำเพชร ในเมือง
พรรณไม้ใต้น้ำสร้างออกซิเจน

นอกจากนี้ การเก็บกักและระบายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี มีการบริหารจัดการด้านการเก็บกักและระบายน้ำในแหล่งน้ำต้นของแม่น้ำเพชรบุรี จากบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และการจัดการน้ำเพื่อการชลประทานบริเวณเขื่อนเพชร พื้นที่ทางตอนกลางของแม่น้ำนับเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเร็วของน้ำและคุณภาพน้ำที่เกิดข้ึนตามเวลา (จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ 2559, น.33)

“ปัจจุบันถ้าเราได้เรียนรู้เรื่องของแม่น้ำจากเมืองต่างๆ เราจะรู้ว่าคนเริ่มหันหลังออกจากแม่น้ำแล้วบ้านคนหันหน้าเข้าถนนและเอาท้ายบ้านสู่แม่น้ำแทน การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำมันเป็นสิ่งที่จริงๆแล้วคนส่วนใหญ่ในเมืองเพชรฯรับรู้ไหม อาจารย์อาจจะไม่แน่ใจเพราะว่าคนที่จะรับรู้ถึงความเปลี่ยนของแม่น้ำอาจจะเป็นคนที่เขาต้องอยู่กับน้ำ ต้องลงไปแช่ในน้ำหรือเขาต้องใช้น้ำหรือแม้กระทั่งชุมชนชาวบ้านที่ต้องดึงน้ำจากแม่น้ำมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ว่าสังคมเมืองที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเห็นคุณค่าหรือเห็นความงดงามของแม่น้ำน้อยลงเรื่อย ๆ ” อาจารย์จารุมาศกล่าวถึงคนเพชรฯ กับความสะอาดแม่น้ำเพชรฯ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

และเมื่ออาจารย์อธิบายถึงคุณภาพน้ำบริเวณตรงกลางแม่น้ำเพชรฯ ซึ่งประกอบด้วยเขื่อน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนเพชรฯ

“จุดที่ทำให้รู้สึกสะท้อนใจอย่างมากคือบริเวณจุดแก่งกระจาน จุดที่เก็บน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน  อาจารย์ก็มองในมุมเหมือนคนทั่ว ๆ ไป รู้ว่าเขื่อนมีค่าในการที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ออกมา เราพบว่าสถานีที่เราวัดคุณภาพน้ำจากบริเวณท้ายเขื่อนแก่งกระจานมีออกซิเจน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ลักษณะน้ำสีดำปี๋ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติในกรณีที่มีน้ำปริมาณน้อย และเขาต้องปิดประตูเขื่อนไว้ตลอดเวลา หากมีลำคลองที่กั้นพื้นที่ไว้แล้วไม่มีน้ำเข้ามา เพราะน้ำในเขื่อนปริมาณน้อย สิ่งที่ เปิดออกมานั่นคือน้ำเน่าจากใต้เขื่อน กลับออกมาสิ่งที่อาจารย์รู้สึกว่าเราอยู่กลางเมืองเพชร พื้นที่ที่มีต้นไม้สวย แต่ต้นทางของแม่น้ำเพชรฯ ณ ตอนนี้ไม่ใช่น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีอีกต่อไป แต่เป็นน้ำจากใต้เขื่อน สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือแม่น้ำเพชรฯ ที่มีเขื่อนยาวและตัวสันเขื่อนเป็นบึงขนาดใหญ่ที่ลึกมาก น้ำที่ปล่อยออกมาก็เป็นน้ำที่อยู่ส่วนตอนล่าง ไม่ใช่น้ำผิวบนสุด ที่ถูกปล่อยออกมา เป็นน้ำที่อยู่ด้านล่างของเขื่อน มันเป็นน้ำที่มีอายุมากกว่า 90 วัน และหากยิ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำที่ถูกปล่อยออกมาเป็นน้ำมีอายุ คำว่าน้ำมีอายุ หมายความว่า เป็นน้ำที่มีการย่อยสลาย”

ความเปลี่ยนแปลงจากการสำรวจคุณภาพน้ำของน้ำในแม่น้ำเพชรฯ

อาจารย์จารุมาศได้เล่าต่อไปถึงการสำรวจคุณภาพน้ำบริเวณจุดก่อนท้ายเขื่อนแก่งกระจาน

“อาจารย์สังเกตว่าทำไมตลิ่งของแม่น้ำเพชรมีขอบน้ำที่เปียกเป็นชั้น ๆ ซึ่งอาจารย์ไม่เคยคิดมาก่อน และก็พบว่าแม่น้ำเพชรมีการขึ้นลงได้ ซึ่งตามธรรมชาติความเข้าใจของเรา ทะเลมีน้ำขึ้นน้ำลงแต่แม่น้ำจะมีน้ำขึ้นน้ำลงได้อย่างไร จึงได้พูดคุยกับทีมงานถึงข้อสงสัยว่าทำไมแม่น้ำจึงมีน้ำขึ้นน้ำลงในชั่วข้ามคืนเพราะพบรอยน้ำเปียกจากน้ำที่ลดลงแสดงว่าเมื่อคืนระดับน้ำต้องสูงประมาณ 2 เมตร สูงกว่าตลิ่ง แต่ทำไมตอนนี้น้ำเหลือเพียงแค่นี้ แสดงว่าน้ำในระบบแม่น้ำโดยเฉพาะตอนกลางมีการเปลี่ยนไปตามการปล่อยน้ำของเขื่อนแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์”

“เขื่อนในตอนกลางเป็นตัวควบคุม ปล่อยหรือไม่ปล่อยน้ำ การปล่อยหรือไม่ปล่อยนี้มีความหมายอย่างมากต่อทั้งมวลน้ำและคุณภาพน้ำในบริเวณจุดท้ายเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบริเวณที่นักท่องเที่ยวไปล่องแพ ในช่วงเวลา 10.00-11.00 น. แต่ละรีสอร์ทจะมาเตรียมลูกแพ และเขาจะประสาน งานกับเขื่อนเพื่อให้มีน้ำ ไหล เพราะถ้าหากล่องแพแล้วไม่มีน้ำไหลก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขื่อนแก่งกระจานจะปล่อยน้ำประมาณ 9.00-10.00 น. เพื่อให้น้ำไหลมา และจากที่อาจารย์ไปรอดูอยู่ตั้งแต่จังหวะที่น้ำไม่ไหลเลย จนถึงช่วงเวลาที่น้ำไหล จนสามารถล่องแพได้ และมีนักท่องเที่ยวมารอใช้บริการ ในช่วงแรกน้ำสูงแค่ประมาณ 30 เซนติเมตร ในความเข้าใจของอาจารย์การกั้นเขื่อนที่เกิดขึ้นต้องปล่อยให้แม่น้ำเป็นแม่น้ำ แม่น้ำต้องไหลได้ หากแม่น้ำไม่ไหล ทันใดนั้นก็จะเกิดน้ำเน่าขึ้นมาได้ ระบบคุณภาพน้ำจะเปลี่ยนจากแม่น้ำเป็นบึง”

การศึกษาของทีมวิจัยอธิบายไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพระบบนิเวศของแม่น้ำที่ชัดเจน อาทิ การทำลายระนิเวศของป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ หรือการสร้างเขื่อนหรือสิ่งกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำในพื้นที่ลำน้ำตอนกลาง ฯลฯ ทำให้ ระบบนิเวศของแม่น้ำในภาพรวมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในมวลน้ำ ตามธรรมชาติของแม่น้ำมักพัดพาเอาของแข็งแขวนลอยมากับมวลน้ำเสมอ ของแข็งแขวนลอยมีการเปลี่ยนแปลงระดับตามฤดูกาลอย่างชัดเจน ซึ่งมักเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนจนถึงกลางฤดูน้ำหลากจากอิทธิพลของปริมาณน้ำฝนที่ชะแผ่นดินลงมา อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของปริมาณของแข็งแขวนลอยในน้ำ แทบไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อแพลงก์ตอนพืชที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำหรือต่อพรรณไมน้ำ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้บริโภคขั้นแรก ๆ ที่กินสาหร่ายเป็นอาหาร (จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ 2559, น.50-51) ทว่ากิจกรรมของมนุษย์บนสายน้ำจากการสำรวจของทีมวิจัยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระดับของออกซิเจนละลายน้ำที่ลดลงจากการเข้าไปรบกวนกระบวนการทางกายภาพของสายน้ำ จากการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนฯ ในแต่ละวัน

เอื้องเพ็ดม้า แทรกตัวอยู่กับผักตบชวา-เขื่อนอุบลรัตน์
เอื้องเพ็ดม้า ในเขตห้วยรันตี-เขื่อนเขาแหลม
เอื้องเพ็ดม้า ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง -เขื่อนศรีนครินทร์

“ในช่วงที่นั่งรออยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง คือก่อน 10.00 น. อาจารย์พบว่ามวนลน้ำมีสีน้ำตาลเริ่มไหลมา ในบริเวณท้ายเขื่อนซึ่งเต็มไปด้วยใบไม้เศษหญ้า จากนั้นอาจารย์จึงวัดออกซิเจนพบว่าอยู่ที่ปริมาณ 0.5 ลักษณะน้ำเหม็น ซึ่งน้ำอัตราสูงเร็วมากภายในเวลา 30 นาที สิ่งที่อาจารย์รู้สึกสะท้อนใจก็คือน้ำที่ออกมาไม่ใช่น้ำที่บริสุทธิ์อย่างที่เราเข้าใจกัน ไม่ใช่น้ำสะอาดจากผืนป่าแต่เป็นน้ำใต้เขื่อน และถ้าหากยิ่งเราไม่เข้าใจหรือมีความรู้กันไม่พอ เราจะไม่ปล่อยน้ำเลยในแต่ละวันซึ่งจะยิ่งทำให้น้ำเกิดสภาพแย่ขึ้นมาได้”

การเปลี่ยนและแปลงคุณภาพน้ำเพชรฯ ด้วยพรรณไม้ใต้สายน้ำ

“การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำก่อนที่จะถึงเขื่อนเพชรฯ ออกซิเจนเพิ่มสูงขึ้นมาประมาณ 4-5 มิลลิกรัมต่อลิตร ทำให้ต้องมาวิจัยกันต่อไปอะไรในแม่น้ำเพชรฯที่ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นมาได้ จากที่ตอนแรกน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานออกมาเป็นลักษณะสีดำและไหลออกไปไม่ถึงระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร คุณภาพน้ำกลับมีออกซิเจนขึ้นมาเป็น 6 มิลลิกรัมต่อลิตร

อาจารย์ใช้วิธีล่องแพสังเกตดูว่าจุดไหนที่น้ำเริ่มเปลี่ยนและเปลี่ยนเพราะอะไร จากถึงท้ายเขื่อนขึ้นมาประมาณ 1-2 กิโลเมตร เราจะเริ่มเห็นบริเวณจุดที่เป็นรีสอร์ท และพวกเราสามารถลงเดินในน้ำไปได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทีมวิจัยทึ่ง พบว่า บริเวณพื้นดินตรงนั้นมี ‘พรมของต้นไม้ใต้น้ำ’ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าเป็นต้นหญ้า แต่จริงๆเป็นต้นดีปลีน้ำ เป็นต้นไม้ที่สุดยอดมาก สะบัดใบอย่างไรก็ไม่หลุด เป้นต้นที่ขึ้นอยู่บนหินนิดเดียว แต่ทั้งผืนจะขึ้นเป็นพรมกระจายมาเรื่อยๆ สามารถสร้างออกซิเจนได้ตลอดวันในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง ทำให้น้ำที่ไหลเข้ามาจากคุณภาพน้ำที่ไม่มีออกซิเจนและไม่มีแพลงก์ตอนพืช

แม้ว่าแม่น้ำที่ใสแบบแม่น้ำเพชรฯมีแพลงก์ตอนและพืชต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสายน้ำแหล่งอื่นในประเทศไทย หมายความว่ามีคลอโรฟิลล์ต่ำ แต่บริเวณจุดนั้นที่เป็น ‘พรมของต้นไม้ใต้น้ำ’ ทำให้อาจารย์ทึ่งมากว่าหากไม่มีพรมต้นไม้บริเวณนี้จะเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากพรมต้นไม้บริเวณนี้ทำให้ออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นได้เองโดยที่ต้นไม้เหล่านี้ทำหน้าที่ในการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

การสร้างออกซิเจนในน้ำทำให้น้ำมีสถานะเป็นเบส ทำให้น้ำมีรสชาติค่อนข้างออกหวาน ไม่ว่าน้ำจะปล่อยออกมาจากเขื่อนในรูปแบบใด อาจารย์มองว่ายังโชคดีที่เรายังมีต้นไม้ที่อยู่ใต้น้ำบริเวณนี้”

ไคร้น้ำ ในเขตแม่น้ำเพชรบุรีตอนต้น

จากที่อาจารย์จารุมาศอธิบายการเปลี่ยนแปลงของคุณน้ำภาพ โดยเฉพาะในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตอนกลาง ทีมวิจัยต่างได้เรียนรู้และค้นพบพรรณไม้ใต้สายน้ำในช่วงระยะทางหนึ่งของแม่น้ำเพชรบุรีที่ช่วยแปลงคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม้ว่จะเป็นเพียงชั่วระยะหนึ่ง อีกทั้งพรรณไม้ใต้สายน้ำ  หรือที่ถูกเรียกว่า ‘พรมของต้นไม้ใต้น้ำ’ ยังช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของมนุษย์ต่อการมองวัชพืชน้ำ

“หลังจากนั้นอาจารย์จึงได้ทำงานเรื่องคุณค่าหรือการกระจายของพันธุ์ไม้ และอัตราการผลิตออกซิเจนในน้ำจากต้นไม้ ศึกษาดูว่าแพลงก์ตอน แบคทีเรีย ปลา ดินใช้ออกซิเจนได้เท่าไหร่ แล้วทำเป็นโมเดลดูเรื่องการผลิตออกซิเจนขึ้นมา พบว่าหากทั้งลำธารหรือล่องแม่น้ำทุกแหล่งจะได้รับออกซิเจนจากการแพร่ในอากาศลงสู่น้ำ แต่เมื่อมาดูจากการศึกษาพบว่าออกซิเจนเพิ่มขึ้นโดยภาพรวมแล้ว 40% มาจากต้นไม้ในน้ำ”

ออกซิเจนละลายน้ำเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อระบบการหายใจของสิ่งมีชีวิตทางน้ำทุกชนิด ตามธรรมชาติแล้วอัตราการละลายของออกซิเจนจะลดลงเมื่ออุณหภูมิของน้ำมีระดับสูงขึ้น ทีมวิจัยสังเกตพบการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนละลายน้ำในรอบวัน ซึ่งจะเพิ่มสูงจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงที่มากขึ้นในช่วงบ่ายของแต่ละวัน แต่จะลดต่ำลงด้วยกระบวนการหายใจที่เกิดขึ้นเป็นหลักในช่วงเวลากลางคืน อนึ่ง ในพื้นที่แม่น้ำลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มักพบการแปรผันของปริมาณออกซิเจนในรอบวันได้มากกว่าพื้นที่แม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณต่ำ (จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ 2559, น.54) แม่น้ำเพชรบุรีเป็นระบบแม่น้ำที่มีน้ำค่อนข้างใส เนื่องจากมีผู้ผลิตออกซิเจนหลักในแหล่งน้ำมักเป็นพวกพรรณไมน้ำหรือสาหร่ายที่ยึดเกาะกับผิววัตถุบริเวณพื้นท้องน้ำ ในพื้นที่แม่น้ำนี้ทีมวิจัย (2559) พบว่าระดับของออกซิเจนละลายน้ำมีการแปรผันในรอบวัน เนื่องจากอิทธิพลของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงที่เกิดอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลากลางวัน พรรณไม้น้ำหลัก ได้แก่ ดีปลีน้ำ สันตะวา และสาหร่ายหางกระรอก มีบทบาทในการให้ออกซิเจนเข้าสู่ระบบแม่น้ำได้สูงสุดถึงประมาณ 40% ของแหล่งที่มาโดยรวม (น.54-55)

ดีปลีน้ำ ที่แม่น้ำเพชร ใกล้วัดอินจำปา
ดีปลีน้ำ ที่แม่น้ำเพชร ใกล้วัดอินจำปา
ดีปลีน้ำ ที่แม่น้ำเพชร บ้านสารเห็ด
ป่าไม้ใต้น้ำ

พรรณไม้น้ำ หรือ พืชน้ำ (aquatic plant/water plant) ถือเป็นผู้ผลิตหลักที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ดังนั้นการกระจายของพืชน้ำมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ แบ่งเป็น 3 ชนิด พืชลอยน้ำ (Floating plants), พืชในน้ำ (Growth Water plants) และพืชชายน้ำหรือพืชริมน้ำ (Marginal plants) ความหลากหลายของพรรณไม้น้ำในระบบแม่น้ำในภูมิประเทศของไทยมีความหลากหลาย เช่น แม่น้ำแควน้อยในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2557 พบว่าพรรณไม้น้ำทั้งหมด 33 วงศ์ 53 ชนิด (พงศ์เชฏฐ์ พิชิตกุล 2558) องค์ประกอบและการกระจายพันธุ์พืชอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ฤดูกาล คุณภาพน้ำ กิจกรรมของมนุษย์ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม พรรณไม้บางชนิดถูกจัดสายพันธุ์ที่รุกรานและมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายให้กับแหล่งน้ำในอนาคตจึงจำเป้นต้องรักษาความสมดุลเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำอย่างยั่งยืน (Rayan และคณะ 2021) ซึ่งพรรณไม้ที่ทีมวิจัยกล่าวถึงบางอาจถูกมองเป็นวัชพืชในสายน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์หากมีอยู่ในจำนวนและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยกล่าวถึงคุณค่าของพรรณไม้ใต้น้ำเหล่านี้ที่กล่าวถึงในแง่การใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของดีปลีน้ำ Potamogeton malaianus และสาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata ในการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน (ธัญลักษณ์ แต่บรรพกุล 2539) หรือกรณีในประเทศจีนซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย อย่างงานของการศึกษาการศึกษาข้อมูลพรรณไม้ใต้น้ำในบึงน้ำเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำในงานของ Lu และคณะ (2012) และอีกชิ้นหนึ่งกล่าวถึงผลกระทบของคุณภาพน้ำกับชุมชนพืชน้ำในระบบนิเวศของทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของจีน ซึ่งพรรณไม้ใต้น้ำมีผลในเชิงบวกต่อการควบคุมคุณภาพน้ำจากการศึกษาของ Wang และคณะ (2019)

พุ่มของสาหร่ายพุงชะโดที่ขึ้นปนกับสาหร่ายหางหระรอก
สาหร่ายพุงชะโด

นอกจากนี้ อาจารย์จารุมาศอธิบายเหล่าพรรณไม้ที่อยู้ใต้น้ำเพิ่มเติมว่า

“ต้นไม้ใต้น้ำหมายถึงว่าต้นที่มีทั้งราก ใบ ดอก สามารถจมอยู่ในน้ำ มีระบบรากที่สมบูรณ์ ต้นไม้เขาเป็นพืชชั้นสูงซึ่งสามารถที่จะสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วสร้างออกซิเจนได้ อยากให้เห็นว่าถ้าเรามองดีๆ การที่เรามีป่าอยู่ในน้ำ และป่านั้นคือผืนป่าที่สร้างออกซิเจนให้น้ำ ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ ในโลกนี้จะสร้างได้อย่างต้นไม้ อาจจะมีแบคทีเรียที่สามารถของสังเคราะห์แสงได้บ้างแต่น้อยมาก เพราะฉะนั้นต้นไม้ที่อยู่ใต้น้ำเลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราสามารถมองเห็น แล้วก็ให้มันมีได้อย่างพอเหมาะพอควร จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”

กล่าวโดยสรุป ภาพรวมจากการศึกษาสายน้ำเพชรฯ สายน้ำแห่งชีวิต (2559) ทีมวิจัยพบว่าการศึกษาผลกระทบของปริมาณการไหลของน้ำจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบแม่น้ำที่ “ถูกควบคุม” โดยมนุษย์ เนื่องจากผลจากการศึกษาจะนำไปสู่ความรูค้วามเข้าใจในการกำหนด “อัตราไหลต่ำสุด” ที่จะยังคงรักษาสมดุลในระบบนิเวศแม่น้ำรวมทั้ง “อัตราไหลสูงสุด” ที่ไม่ทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศแม่น้ำในระดับที่ยากจะฟื้นฟู (น.29)

สันตะวาใบกลม ที่แม่น้ำเพชรบุรี
สันตะวาใบกลม ที่แม่น้ำเพชรบุรีเขตกลางเมือง

อ้างอิงข้อมูล

บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ดร.จารุมาศ เมฆสัมพันธ์ ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาลัยเกษตรศาสตร์

Kędra, M. (2023). Dam-induced changes in river flow dynamics revealed by RQA. The European Physical Journal Special Topics, 232(1), 209-215.

Lu, J., Wang, H., Pan, M., Xia, J., Xing, W., & Liu, G. (2012). Using sediment seed banks and historical vegetation change data to develop restoration criteria for a eutrophic lake in China. Ecological Engineering, 39, 95-103. https://doi.org/10.3390/w11010077

Rayan, S., Kaewdonree, S., Rangsiwiwat, A., & Chartchumni, B. (2021). Distribution of aquatic plants in Nong Han wetland, Thailand. Songklanakarin Journal of Science & Technology, 43(1).

Wang, L., Han, Y., Yu, H., Fan, S., & Liu, C. (2019). Submerged Vegetation and Water Quality Degeneration From Serious Flooding in Liangzi Lake, China. Frontiers in plant science, 10, 1504. https://doi.org/10.3389/fpls.2019.01504

จารุมาศ เมฆสัมพันธ์. (2559). สายน้ำเพชร สายน้ำแห่งชีวิต: บันทึกงานวิจัยจากพะเนินทุ่งสู่อ่าวไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะประมง.

ธัญลักษณ์ แต่บรรพกุล. (2539). ประสิทธิภาพของดีปลีน้ำ Potamogeton malaianus และสาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata ในการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/กรุงเทพฯ. DOI : https://doi.nrct.go.th/ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.1996.182

พงศ์เชฏฐ์ พิชิตกุล. (2558). พรรณไม้น้ำในระบบแม่น้ำแควน้อย. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 53: สาขาพืช, สาขาสัตว์, สาขาสัตวแพทยศาสตร์, สาขาประมง, สาขาส่งเสริมการเกษตรและคหกรรมศาสตร์. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 53. (หน้า 1116-1125). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.