Beautiful Plants For Your Interior
ท่วมช้ำ-ท่วมซ้ำ หรือเมืองมองข้าม “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ?
มองพื้นที่ชุ่มน้ำของจีน เน้นให้คนเรียนรู้ อยู่กับน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
การขยายตัวของเมืองทั่วโลก แน่นอนว่ามักจะนำมาสู่โอกาสมากมายให้กับคนในพื้นที่ แต่อีกนัยหนึ่งความเจริญก็ได้เข้ามาบดบังและกลืนกินพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ที่คอยโอบอุ้มเหล่าสรรพชีวิตในระบบนิเวศและคอยรับปริมาณฝนที่เทถล่มลงมา
อย่างประเทศไทยเอง “ฝนตกหนัก พายุเข้า และ น้ำท่วม” เป็นวงจรซ้ำ ๆ ที่ทำเอาหลายคนกุมขมับ เมื่อไทยกลเข้าสู่ฤดูฝน ผู้คนที่อาศัยตามพื้นลุ่มน้ำ และพื้นที่ท้ายเขื่อน แทบจะต้องกลายเป็นผู้ประสบอุทกภัยทันทีเมื่อฝนเทกระหน่ำลงมาติดต่อกัน และเมื่อตัดภาพมาที่กรุงเทพฯ ก็อ่วมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในวันที่ฝนราชการมาเยือน หรือฝนที่มักตกในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ทำให้ถนนหลายสายกลายเป็นคลองขนาดย่อม การจราจรกลายเป็นอัมพาต ผู้คนที่ใช้ขนส่งสาธารณะสภาพไม่ต่างจากผู้ประสบอุกภัยเลยทีเดียว
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นภาพชินตาของพวกเราทุกคน แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะลงพื้นที่รื้อท่อ ลอกคูคลองกำจัดขยะ ไปจนวางแผนบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่ เพื่อหาทางระบายน้ำออกจากสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมก็คือ #พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เนื่องจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่าอีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรและที่อยู่อาศัยของเหล่าพันธุ์พืชและสัตว์ ช่วยดักจับตะกอนและสารพิษ ซึ่งทางเว็บไซต์ Wetlands ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 131 แห่ง ทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น
แม้จะมีสรรพคุณที่ล้ำค่า แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ดูเหมือนพื้นที่ว่างเปล่า ชื้นแฉะ บ้างก็มีน้ำท่วมขัง ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกมองข้าม ถูกลดคุณค่าลงเป็นเพียงพื้นที่ไร้ประโยชน์ ท้ายที่สุดก็ถูกความเจริญของเมืองกลืนกินและบดบังสถานะของแหล่งอุ้มน้ำที่สำคัญลงไป
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบเช่นกัน อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีเมืองหลายแห่ง ต้องเผชิญกับสถานการณ์ #น้ำท่วม ในแต่ละปีเพิ่มขึ้น ทางกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทของจีน จึงพัฒนาอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ หรือ “Bailuwan” ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตจิ่นเจียง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติแห่งแรกของเมืองเฉิงตู
ด้านข่งเจียน หยู (Kongjian Yu) คณบดีวิทยาลัยสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้บุกเบิกการวิจัยเกี่ยวกับเมืองฟองน้ำ ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมในจีน ปัจจุบันเราไม่สามารถพึ่งพาการแก้ไขปัญหาจากโครงสร้างเดิม ๆ อย่าง เขื่อนและท่อระบายน้ำ เมืองต่าง ๆ ควรหันมาใช้วิธีแก้ปัญหาตามธรรมชาติเพื่อรับมือกับวิกฤตน้ำท่วม ด้วยการสร้างเมืองฟองน้ำ หรือเมืองที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพื้นที่สีเขียว และมีพืชพรรณที่แพร่หลาย และมีพื้นที่เพื่อให้น้ำระบายลงไปยังผืนดิน แทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลเร็วและแรงให้ได้มากที่สุด แล้วเก็บกักเอาไว้ในเขื่อน
การสร้างทางน้ำธรรมชาติไว้คอยดูดซับน้ำในช่วงเวลาที่มีฝนตกชุก และปล่อยน้ำออกในช่วงฝนแล้ง ข่งเจียน หยู ระบุว่า การเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะนี้ สามารถแก้ปัญหาอุทกภัยได้ในระยะยาว
“ไม่เพียงแต่ในจีน แต่ยังรวมถึงในอเมริกาด้วย การสร้างเขื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมาก และต่อให้มีเขื่อนระบบที่ใหญ่ ระบบท่อที่หนาและแข็งแกร่งมากเพียงไร เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็น 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 1 ปีหลังจากนั้น ระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีนี้ก็ล้มเหลว เพราะนี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแบบปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ แต่เป็นการต่อสู้กับธรรมชาติ”
นี่ไม่ใช่ข้อเสนอหรือแนวคิดลอย ๆ แต่โมเดลนี้รัฐบาลแดนมังกร ได้นำมาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2556 และยังวางหมุดหมายการเปลี่ยนพื้นที่เมืองให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำ ร้อยละ 80 ภายในปี 2573 เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากการขยายตัวของเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
เมื่อกลับมาทบทวนปัญหาน้ำท่วมในเมืองหลวงของไทยในปีนี้ อาจทำให้เราได้เห็นภาพที่แตกต่างไปจากปีก่อน ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไทยก้าวเข้าสู่ฤดูฝนอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 และตลอดช่วงฤดูฝนนี้ ไทยต้องเผชิญกับร่องมรสุมที่กินระยะเวลายาวนาน รวมไปถึงอิทธิพลของพายุ จึงทำให้ดูฤดูฝนปีนี้ ดูเหมือนยาวนานกว่าที่คิดจนนำมาสู่คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมว่า ทำไมเราต้องเจอกับสถานการณ์วนลูป น้ำท่วมจนช้ำ ซ้ำเติมวิถีชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ปี
หรือบางทีการแก้ปัญหาด้วยการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ หันมาทบทวนและให้คุณค่ากับพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างจริงจัง อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง http://wetlands.onep.go.th/ http://www.china.org.cn/…/2017-01/20/content_40129402.htm https://www.dw.com/…/china-turns-cities-into…/a-61414704 ขอบคุณภาพจาก China.org.cn |